fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit | คุยกับ “ผอ.แป้ง” ผู้เปลี่ยนนิยามงานคราฟต์ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
date : 26.สิงหาคม.2019 tag :

“บางคนมองว่างานหัตถกรรมเชย เมื่อก่อนลูกค้าของ SACICT อายุ 40 ปีขึ้นไป มีฐานะ มีตำแหน่ง ต้องทำงานที่ใส่ผ้าไทย แต่วันนี้ไม่ใช่แล้วนะ เรามีแฟนคลับวัยรุ่นเต็มไปหมด” 

หนึ่งประโยคที่บอกเล่าได้ทั้งความสำเร็จและก้าวใหม่ของ SACICT จากใจของ “ผอ.แป้ง” อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ผลักดันหัตถศิลป์ไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

รางวัลสตรีนักบริหารดีเด่น ประจำปี 2562 ที่มาพร้อมกับฉายา “เจ้าแม่ร้อยโปรเจกต์” ของ “ผอ.แป้ง” นั้น การันตีความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ให้วงการศิลปหัตถกรรมไทยได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่นับรวมอีกหลายโปรเจกต์ที่ช่วยสนับสนุน ต่อยอด สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับเจ้าของผลงานทั่วประเทศ

เรียนรู้จาก OVOP ญี่ปุ่น มาพัฒนาวงการหัตถกรรมไทย

“ความที่เราเคยอยู่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน ทำให้มีโอกาสได้เป็นฑูตหลายที่ เลยอาศัยสะสมองค์ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการศิลปหัตถกรรมมา ครั้งหนึ่งเราเคยไปประจำการที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เรียนรู้งานกับ ดร. โมริฮิโกะ ฮิรามัตสุ อดีตผู้ว่าฯเมืองโออิตะ ประเทศญีปุ่น ผู้ริเริ่มโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ ตอนนั้นทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนได้ทันที ว่างานหัตถกรรมของเราพัฒนาโดยขาดตอน ก้าวกระโดด อยู่ๆ เราจะเอาคนๆ หนึ่งที่ทำงานอยู่ในท้องถิ่น local to global เป็นไปได้เหรอ ในความคิดก็อาจจะใช่ แต่ไม่ใช่ในทันทีทันใด ต้องให้เขาพัฒนาไปเป็นสเต็ป”

ผู้สร้างหัตถศิลป์ต้องมีตัวตน

“เมื่อมาบริหารองค์กรนี้ จึงพัฒนาโดยดูว่า ปัญหาจริงๆ ของเขาอยู่ที่ไหน สิ่งที่เขาขาดคืออะไร แล้วหน้าที่ของเราคืออะไร ดังนั้นเราจึงเริ่มจากการเชิดชูบุคคลผู้สร้างภูมิปัญญาก่อน หัตถกรรมที่เราเห็นๆ กันอยู่ ไม่ว่าจะชิ้นงานที่มีชื่อเสียง วิจิตร สวยงาม หรือสร้างคุณค่าแค่ไหน แต่ก็ยังขาดการรับรู้อยู่ เพราะผู้ที่ทรงภูมิปัญญาองค์ความรู้เหล่านั้น เป็นเพียงชาวบ้าน ผู้ที่ทำแล้วไม่เคยได้เครดิตเลย ไม่มีคนรู้ ไม่มีใครมองเห็นตัวตนที่แท้จริง หน้าที่ของเราอันดับแรก คือยกย่องให้พวกเขาเป็นครูศิลป์ ครูช่าง และสร้างการรับรู้ให้พวกเขามีตัวตน ให้สังคมได้เห็นฝีมือ เห็นผลงาน เห็นปรัชญาในการสร้างชิ้นงานที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ และมีคุณค่า ยากที่คนทั่วไปจะทำได้ SACICT เชื่อว่าหากครูมีตัวตน มีผลงานที่ประจักษ์ แน่นอนว่าทำให้ทายาทของครูเองหรือคนรุ่นใหม่ อยากจะสืบสานต่อไปด้วย”

“เราอยู่ตรงนี้ ทำให้เรามองเห็นว่าจริงๆ แล้ว งานศิลปหัตถกรรมในไทยมีเยอะมาก แต่ว่างานศิลปหัตถกรรมที่เกิดจากแรงบันดาลใจของคนที่รักในงานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น มันไม่ได้มีทุกคน มันเป็นจิตวิญญาณ เป็นปรัชญาของการทำงาน ที่มีคุณค่ามาก ถ้าเราสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร ภาพ ผลงานต่างๆ วิธีไหนที่เราจะทำได้บ้าง? ก็คงเป็นการรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ให้ได้ โดยเริ่มจากที่เรามีประวัติข้อมูลของครู จากการคัดเลือกครูศิลป์ ครูช่าง ทุกๆ ปี เรารู้สึกว่ามันมีประโยชน์นะ เพราะมันทำให้คนได้รู้จักครูของเรามากขึ้น”

SACICT Archive แพลตฟอร์มที่รวมทุกข้อมูลงานหัตศิลป์และนวัตศิลป์ไทย 

“SACICT Archive จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในยุคดิจิตัลแบบนี้ หลังจากที่เรามองแล้วว่าองค์กรเรามีข้อมูลเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมมากมาย ที่สามารถนำมาแปลงลงในระบบดิจิตัลได้ นอกจากประวัติของครู ทายาทครู และผลงาน ที่เรามีอยู่แล้ว เราได้เพิ่มเติมส่วนที่ขาด ลงลึกเรื่องของปรัชญาการทำงาน ที่มา การเรียนรู้ วิธีการ กระบวนการ แม้กระทั่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการทำงานต่างๆ พร้อมกับเชื่อมโยงองค์ความรู้จากชุมชนศิลปหัตถกรรม ที่เราจัดตั้ง และได้เข้าไปพัฒนา สนับสนุน ทั้งหมด 37 ชุมชน ซึ่งหลายชุมชน มีพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ที่เก็บรักษาไว้ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า อายุเป็นร้อยๆ ปี ที่พิเศษกว่านั้น นอกจากจะมีข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้ว ยังมีเส้นทางการเดินทางไปท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้คนที่สนใจท่องเที่ยวท้องถิ่น อยากเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ได้เข้าถึงท้องถิ่นง่ายขึ้นด้วย”

จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ หรือ ที่ชาวพิษณุโลกเรียกว่าลุงจ่าเป็นชาวพิษณุโลกโดยกำเนิด ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในงานศิลปะจากบิดาซึ่งเดิมทีเป็นช่างประติมากรรมของวัดจึงมีโอกาสได้รับความรู้แขนงวิชาช่างต่าง จากวัดเป็นส่วนใหญ่

“เพราะ Archive นี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญให้กับทุกคนที่สนใจ หรือเกี่ยวข้องในงานศิลปหัตถกรรม ได้เข้าถึง หรือสืบค้นข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก เพราะ SACICT Archive ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่รวบรวมฐานข้อมูลของงานหัตถศิลป์และงานนวัตศิลป์ ที่ได้รับการสร้างสรรค์โดย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรม ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์ มาไว้บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งตรงกับการทำงานของ Sacict ที่ตั้งใจทำให้ทุกคนเห็นถึง พัฒนาการของงานหัตถกรรม ที่สามารถพัฒนาด้วยองค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตได้อย่างแท้จริง ใต้แนวคิด “หัตถศิลป์ต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน” เหมือนถ้าเราไม่ใช้มัน มันก็จะไม่มีทางออก ถ้าเราใช้มัน สิ่งเหล่านั้นก็จะเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปกับเราด้วย”

Social Craft Network ศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน

“เป้าหมายความสำเร็จของ SACICT Archive นอกจากการรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงลึก และเชิงกว้างให้ได้มากที่สุดแล้ว ในวันข้างหน้าจะมีการเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์การเรียนรู้ เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชนหัตถกรรมของไทย และต่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงการทำข้อมูล 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน  ไม่ใช่แค่นั้น ปัจจุบันเรายังได้ผลักดันเรื่อง Social Craft Network ซึ่งเป็นการผลักดันระหว่างผู้ผลิต กับผู้ที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน จะมีทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า แน่นอนว่าเมื่อรวมกลุ่มกันแล้ว เค้าจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ห่างไกลในประเทศต่างๆ ได้

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ กว่า 80 ปีที่อำเภอหนองบัวแดงจังหวัดชัยภูมิ คือบ้านของกลุ่มคนจากหลากหลายชุมชนในภาคอีสานย้ายมาอยู่รวมกันท่ามกลางผืนป่าในหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์วิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติและการผสมผสานทางวัฒนธรรมหลอมรวมกันจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ชุมชนผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติคือมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ด้ายทุกเส้น ลวดลายต่างๆที่ถักทอยังบ่งบอกถึงภูมิปัญญาที่สะท้อนแนวคิดให้การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

นอกจากนี้ยังมี Sacict Craft Trend ที่เราทำการวิจัยเรื่องเทรนด์ของโลก เพื่อสื่อสารข้อมูลให้กลุ่มสมาชิกครู หรือทายาทได้รับรู้ เตรียมพร้อมรับมือ และทำงานให้สอดคล้อง ซึ่งเทรนด์จะบอกทั้งทิศทางการตลาด ทิศทางวัตถุดิบ ทิศทางการนำเสนอ หรือแนวความคิดให้เปลี่ยนจากการครอบครอง มาเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ตนเอง ให้งานหัตถกรรมมันเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้ อยู่กับการท่องเที่ยว โรงแรม กับสถานที่ต่างๆ ให้คนไปพบไปเห็น ได้ประสบการณ์จากสิ่งเหล่านั้น ให้พวกเขาได้ประโยชน์จากงานหัตถกรรม กระตุ้นให้ตระหนักถึงการรักษ์องค์ความรู้ เข้ามาสืบสาน หรือคุ้มครองสิ่งแวดล้อม”

Today Life’s Craft งานหัตถศิลป์ไทยต้องร่วมสมัยกับชีวิตประจำวัน

“ในวันนี้เราดีใจและภูมิใจ ที่ได้เห็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมของไทย เปลี่ยนความคิดไปเยอะ จากที่เคยทำตามที่พ่อแม่สอน ไม่ว่าจะรูปแบบการทำ วิธีการ ก็เริ่มมีแรงบันดาลใจใหม่ๆ กล้าเปลี่ยน กล้าแตกต่าง จนสามารถต่อยอดจากสิ่งที่เราทำได้ สร้างงาน สร้างรายได้ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้บริโภค จากเดิมที่มองว่าหัตถกรรมเป็นของราคาถูก เชย ล้าสมัย เหมาะกับคนสมัยเก่า ในวันนี้คนรุ่นใหม่มองว่าเราได้มีส่วนในการใช้งานหัตถกรรมของไทย เช่น เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ใส่เสื้อยืด นุ่งผ้าซิ่น ใส่รองเท้าผ้าใบ แล้วเดินชายหาด และนี่คือบทบาทที่แท้จริงของ SACICT ในการจูนระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย ให้มาใกล้ชิดกันมากขึ้น แน่นอนว่าผลประโยชน์ก็ตกกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น งานหัตถกรรมในวันนี้จึงไม่เหมือนงาน OTOP สมัยก่อน ที่ซื้อแล้วไม่รู้จะวางตรงไหน ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน เพราะงานหัตถกรรมของ SACICT ทุกชิ้น มีฟังก์ชั่นการใช้งานหมด ทุกอย่างต้องมีประโยชน์ในการใช้สอยอย่างแท้จริง จึงจะอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน”

จากคำบอกเล่าของ ผอ.แป้ง ทั้งหมดนี้ ต้องยอมรับว่า สมความมุ่งมั่นตั้งใจของ SACICT โดยแท้ ที่สามารถเปลี่ยนนิยามจากงานหัตถกรรมทำมือ มาเป็นงานคราฟต์ที่มีคุณค่า ร่วมสมัย และสร้างประโยชน์ให้ผู้ใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัย เรียกว่าสามารถตอบโจทย์วงการศิลปหัตกรรมไทยได้อย่างหลากหลาย รอบด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว SACICT จะสามารถยกระดับและผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม “Arts & Crafts Knowledge Centre” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อย่างแน่นอน

ผู้สนใจสามารถใช้งานระบบ SACICT Archive ที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกมุมโลก ผ่านเว็บไซต์ SACICT.or.th โดยจะปรากฎไอคอน SACICT Archive ให้คลิกเข้าสู่ระบบ หรือเข้าสืบค้นได้โดยตรงทาง archive.sacict.or.th และสามารถเข้ามาสร้างประสบการณ์ความประทับใจในงานหัตถศิลป์จากองค์ความรู้ของ SACICT Arts & Crafts Knowledge Centre ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1289

RECOMMENDED CONTENT

24.มกราคม.2022

เป็นโจทย์ที่เรียกได้ว่าท้าทายสำหรับวงการเอเจนซีโฆษณาเลยทีเดียว เมื่อผู้นำดิจิทัลไลฟ์สไตล์และลอยัลตี้แพลตฟอร์ม ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล “The 1 (เดอะ วัน)” ต้องการสื่อสารไปยังสมาชิกบัตร The 1 กว่า 19 ล้านคน เพื่อย้ำเตือนสิทธิ์ที่สมาชิกทุกคนพึงได้รับบนแอปพลิเคชั่น The 1 ผ่านผลงานโฆษณาชิ้นแรกครั้งแรกในรอบปี