เมื่อการฟังเพลงผ่านเทปคาสเซ็ทในยุคอนาล็อกกลายเป็นความทรงจำ วาร์ปมาที่ปัจจุบันเราสามารถฟังเพลงผ่านออนไลน์ด้วยการ Streaming ทำให้การคลิ๊กฟังเพลงโปรดของคุณทำได้ง่าย รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแค่มีสัญญานอินเตอร์เน็ต และเชื่อว่าหลายคนที่รักในเสียงดนตรีจะต้องมีแหล่งฟังเพลงประจำของตัวเองแน่ๆ บางคนอาจจะเคยชินกับการเปิดฟังผ่านเว็บวีดีโอชื่อดังที่ถือเป็นเจ้าตลาดของโลก แต่ถ้าจะให้นึกถึงเจ้าตลาดเพลงสตรีมมิ่ง อันดับ 1 ของไทยในยุคนี้ล่ะ คุณจะนึกถึงใคร?
สำหรับดู๊ดดอทแล้ว นึกถึงแอปพลิเคชั่นฟังเพลงออนไลน์ฟรี ที่เชื่อว่านาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ JOOX ” แพลตฟอร์มบริการฟังเพลง ที่มีเพลงให้ฟังและดาวน์โหลดนับล้านเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ และยังสามารถโหลดเก็บมาฟังแบบออฟไลน์เวลาไม่มีเน็ตได้อีก แม้จะเปิดตัวมานานร่วม 3 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังฮิตติดลมบน จนมีคอนเสิร์ตใหญ่ที่ใครๆต่างก็เฝ้ารอ เรียกว่าเป็นการมา ที่ทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยคึกคัก และมีสีสันขึ้นมากทีเดียว จะเพราะอะไรนั้น เรามาฟังจากปากของ คุณอ้น กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารหนุ่มนักพัฒนา JOOX ให้เกิดสุดๆในยุคดิจิทัล เรียกว่าเริ่มจากศูนย์ จนสามารถขึ้นแท่นเป็น ‘แพลตฟอร์ม มิวสิค สตรีมมิ่ง อันดับ 1 ของไทย’
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จากประสบการณ์ทำงานทั้งทางด้าน IT งานเกี่ยวกับ Tech และ E-Commerce จากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า ‘คุณอ้น กฤตธี มโนลีหกุล ’ เป็นตัวจริงแห่งโลกดิจิทัลโดยแท้ ก่อนที่คุณอ้นจะตัดสินใจกลับมาอยู่ประเทศไทย ได้เข้ามาบริหารบริษัท สนุก ออนไลน์ จากนั้น 3 ปีต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ เกมส์ และมิวสิค สตรีมมิ่ง ที่เป็นแพลตฟอร์มบริการฟังเพลง ‘JOOX’
“3 ปีแล้วครับ ที่เริ่มทำ JOOX เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ได้ เราเริ่มวิเคราะห์จากที่สมัยก่อนเรามี Sanook Music ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ ตรงนั้นแหละที่ทำให้เรามองเห็นว่า คนฟังเพลงออนไลน์หรือวิทยุออนไลน์จะต้องฟังผ่านเว็บไซต์ เรามองเห็นดีมานต์จากการที่มีคนคลิ๊กเข้ามาฟังเพลงบ่อยมาก ยิ่งวิทยุออนไลน์นี่คนฟังเพลงยาวๆ เค้าเปิดไว้เป็น Background Music เลย เราเลยเห็นว่ามันมีโอกาสที่จะปล่อย แอปฯสำหรับฟังเพลงได้”
มากกว่า ‘แอปฯฟังเพลง’ ได้ คือต้องช่วย ‘ฟื้นอุตสาหกรรมเพลงไทย’ ด้วย “ไม่ได้แค่ทำแพลตฟอร์มเพื่อฟังเพลงอย่างเดียว เพราะจริงๆเราคิดถึง industry เพลงมากกว่า ว่ามีอะไรที่เราสามารถเข้ามา Plug-in แล้วช่วยให้วงการเพลงกลับมาคึกคักแล้วมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง เราตั้งใจจะช่วยสนับสนุน สร้าง และหาศิลปินหน้าใหม่ๆให้เกิดขึ้นในวงการ เพราะศิลปินบางคนเค้าไม่ได้สังกัดค่ายไหนเลยนะ ไม่มีคนช่วยเค้าในการดัน ในการโปรโมท เพราะฉะนั้นหน้าที่ Technologist อย่างเรา คือช่วยโปรโมทศิลปินเหล่านี้ให้มีตัวตนบนโลกออนไลน์ รวมถึงช่วยดึงค่ายเพลงที่เป็นพาร์ทเนอร์ของเรา ให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของเรา เพื่อให้พวกเค้าได้เจอ User ของเรา และจะได้สร้างรายได้ได้ด้วย นี่คือสิ่งที่เราคิดและตั้งใจทำมาตั้งแต่แรก”
วันสำคัญไหนๆ ก็ไม่ตกเทรนด์ JOOX จัด Playlist ตามทุกกระแสบ้านเมืองไทย
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมเพลงไทยไม่ได้เป๊ะปังเท่าที่ควร แต่การมาของ JOOX ที่มาพร้อมกับกระแสของโลกออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟน บวกกับเป้าหมายที่ว่า “เราอยากจะช่วยสนับสนุน สร้าง ศิลปินหน้าใหม่ให้มีตัวตนบนโลกออนไลน์ และทำให้วงการเพลงกลับมาคึกคัก” เป็นสิ่งที่ทีมพัฒนา JOOX ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้แตกต่าง แต่สามารถเข้าถึง และเข้าใจไลฟ์สไตล์การฟังเพลงของคนไทยให้ได้
“สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากแพลตฟอร์มฟังเพลงอื่น คือเรามีความ Local เพราะเราเข้าใจในวัฒนธรรมของคนไทย เรามีการสำรวจว่าคนไทยต้องการอะไร เราทำ Event ที่เป็นออฟไลน์ เพื่อออกไปหา User เราในต่างจังหวัด ซึ่งสิ่งนี้มันทำให้เราแตกต่างกับบริษัท Asian Tech กับ Western Tech Company ที่เค้าไม่ค่อยคิดเรื่องออฟไลน์เท่าไหร่ เค้าคิดแต่ออนไลน์ เพราะเค้าคิดว่ามัน scalable ทำทีเดียวแล้วใช้ได้ทุกที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ JOOX พยายามทำ คือการจัดหมวดหมู่ Playlist ให้เข้ากับกระแส วันสำคัญ หรือสถานการณ์ของไทย เพื่อให้เข้าถึงคนไทยได้ทุกกลุ่ม ทุกวัย ในทุกพื้นที่” คุณอ้น เล่าให้ดู๊ดดอทฟังด้วยความภาคภูมิใจว่าผลจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ นับตั้งแต่วันแรก ทำให้ทุกวันนี้ JOOX สามารถครองใจผู้ใช้ได้จำนวนหลายล้านคนทั่วประเทศ
ก้าวใหม่เพื่ออุตสาหกรรมเพลง
แม้ JOOX จะเป็นที่ยอมรับ และสามารถก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของไทยได้ แต่ก็ไม่ทำให้ปณิธานของคุณอ้นเปลี่ยนไปจากเดิม “ยังเหมือนเดิมครับ เรายังอยากช่วยสร้างรายได้ให้กับศิลปิน ให้กับค่ายเพลง ให้คนที่ช่วยทำเพลง เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา Revenue ที่มาจากดิจิทัลมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มันตกมา 10 เกือบจะ 20 ปีซ้อน ดังนั้น ในเมื่อเทรนด์มันมาแล้ว เราเลยคิดต่อด้วยการเพิ่มฟีเจอร์มากขึ้น ทั้งการจัด Concert Thailand Top 100 หรือ School University Tour เวลาที่เราไปต่างจังหวัด ซึ่งเราได้เริ่มทำกันมานานแล้ว เหล่านี้แหละจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ศิลปินมีรายได้มากขึ้น จากการที่เราพาเค้ามาร่วมกับคอนเสิร์ตเราด้วย”
ล่าสุดกับเฟสติวัลคอนเสิร์ต Shopee Presents Thailand Top 100 by JOOX
“ใช่ครับ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตตามความความตั้งใจของเรา ที่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก จากปีก่อนๆที่เราเคยจัดใน GMM Live House เรา Sold Out ตั๋ว 3500 ใบ แต่ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาเราจัดเป็นเฟสติวัลข้างนอก มีอาหาร มีชอปปิ้ง มีบูธเล่นเกมส์ มีโซนเบียร์ โซนเด็ก และมีคนมา 1 หมื่นคน เพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 เท่า และมีศิลปินมาแสดงเพลง Top 100 ของเราถึง 30 คน เป็นอะไรที่เกินคาดมากๆ เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ และทำให้เราได้เห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมสนับสนุนศิลปินไทย และรอฟังเพลงคุณภาพจากศิลปินเหล่านี้อยู่นะครับ” เพราะผลตอบรับที่ดีทั้งจากแฟนเพลง ศิลปิน หรือความคึกคักที่เกิดขึ้นกับวงการเพลง ทำให้คุณอ้นและทีมงานไม่หยุดที่จะพัฒนา JOOX ตามคอนเซ็ปต์ที่ว่า เป็นมากกว่าแค่ “แอปฯฟังเพลง”
ผุด 2 โปรเจกต์ใหญ่ JOOX NEXTPLORER และ JOOX SPOTLIGHT
ไม่ใช่แค่โปรเจกต์การจัดคอนเสิร์ตใหญ่อย่างต่อเนื่องเท่านั้น ยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆอีกเพียบ “ก็มีโปรเจกต์ NEXTPLORER เป็นคอนเซปต์ใหม่ที่เราเอาศิลปินต่างค่าย ต่างชาติ มา ร่วมทำเพลงด้วยกัน ซึ่งโปรเจกต์นี้เราปล่อยไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพลงแรกเป็นเพลงของ getsanova กับ วี ไวโอเลท เพลงที่ 2 ลุลา กับ Season five เพลงที่ 3 เป็ก ผลิตโชค กับ Hollaphonic ศิลปินต่างประเทศ เพลงที่ 4 อะตอมกับมัยราพ เพลงที่ 5 จีน่า-ณัฐชา กับYoungohm ซึ่งหาฟังแบบ Exclusive ได้ที่ JOOX ที่เดียวเท่านั้น ส่วนอีกโปรเจกต์ที่ตอนนี้ถือว่าผลตอบรับดีไม่แพ้กันคือ JOOX SPOTLIGHT เป็นโปรแกรมที่เราเปิดขึ้นมา เพื่อช่วยโปรโมทให้ศิลปินผ่านช่องทางมีเดียต่างๆ เพราะเราเป็นแพลตฟอร์ม ที่มี Content พวกนี้อยู่แล้ว เหมือนเป็นการช่วยโปรโมททางอ้อม และคาดว่าในปี 62 นี้ เราจะมีเพลงใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก ทั้งบนโปรแกรม SPOTLIGHT และ NEXTPLORER ยังไงก็รอติดตามกันได้เร็วๆ นี้ครับ”
อนาคตของ JOOX กับการมีตัวตนบนโลกออนไลน์
“เมื่อสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ไปได้ดี และเริ่มประสบความสำเร็จ เป้าหมายต่อไปมันเลยกลายเป็นความท้าทายให้เราทำมันให้สำเร็จอีกครั้ง ซึ่งสิ่งนั้นก็คือการสร้าง Community ให้เราได้ลงไปเจอกับ User ของ JOOX มากขึ้น เป็นแบบ O2O (Online to Offline) ครับ เพราะบริษัทออนไลน์ยุคนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่บนออนไลน์อีกต่อไปแล้ว เราสามารถ Go offline พาศิลปินไปเจอแฟนคลับได้ แต่เราไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ หรือเพื่อรายได้นะครับ อีกอย่างเราไม่ได้ต้องการแค่จะมีตัวตนบนโลก แต่เราต้องครองใจผู้ใช้ออฟไลน์ได้ด้วย” คุณอ้น กฤตธี มโนลีหกุล เล่าด้วยสายตามุ่งมั่น และมั่นใจว่าก้าวต่อๆไปของ JOOX จะต้องเติบโตไปพร้อมๆกับ User ที่เพิ่มมากขึ้น และยังคงเหนียวแน่นมากกว่าที่เคย แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมไปถึงประเทศใกล้เคียงด้วย
เพราะ Passion ที่แน่วแน่ในการทำงานของหัวเรือใหญ่อย่างคุณอ้น บวกกับการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนที่จะทำเพื่ออุตสาหกรรมเพลงไทย ทำให้ JOOX เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยพลังของคนที่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขากำลังทำ ดู๊ดดอทไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม JOOX ถึงสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี
RECOMMENDED CONTENT
“โรคร้ายไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว” เพราะโรคร้ายไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้ป่วยเพียงคนเดียว แต่ยังมีคนในครอบครัวและคนอีกหลายคนที่ต้องเจ็บปวดและได้รับผลกระทบเช่นกัน การช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษานั้น เท่ากับเราได้ช่วยเหลือคนมากกว่าหนึ่งคน