หากพูดถึง ‘Fast Fashion’ หรือแฟชั่นที่ผลิตออกมาอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับความต้องการอันรวดเร็วยิ่งกว่าของผู้บริโภค ไม่เพียงแค่มันได้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายทำลายวงจรรันเวย์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น หากยังถูกจับตามองในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับมหภาค
แต่แบรนด์แฟชั่นที่ถือกำเนิดขึ้นในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลีมานานกว่า 42 ปี ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ ‘OVS‘ กลับขอเปลี่ยนนิยามของความฉาบฉวยด้วยการผลิตสินค้าคุณภาพสูง พร้อมหยิบความคลาสสิกพิถีพิถันในการตัดเย็บสุดเนี๊ยบที่เรียกว่า ‘Italian Cut’ มาใส่ไว้ในทุกอณู ผ่านกระบวนการการผลิตที่ใส่ใจตั้งแต่ต้นทาง เป็นมิตรต่อคนใส่อย่างเราและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ OVS เดินหน้ามาเปิดสโตร์ใหม่เอี่ยมสดๆ ร้อนๆ ณ เมกา บางนา เป็นสาขาที่ 3 ในประเทศไทย หลังประสบความสำเร็จจากแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกที่จังหวัดภูเก็ตไปเมื่อไม่นานมานี้ ดู๊ดดอทเลยมีโอกาสได้เจอกับ คุณกบ-นิศากร เมสันธสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไปแห่งแบรนด์ OVS ผู้ซึ่งจะบอกเราว่าอะไรกันที่ทำให้พวกเขาเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นที่ ‘แตกต่าง’ ทั้งจุดยืนและแนวคิด
How to be a fashion retail in 70s
เริ่มแรกเลย OVS เป็นแบรนด์ที่ขายสินค้าโปรโมชั่นจากแบรนด์ต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า วันหนึ่งเขาพบว่าสินค้าราคาประมาณไหนขายดี คนเข้าถึงได้ง่าย จึงคิดผลิตสินค้าในราคาย่อมเยาของตัวเองออกมาบ้าง จนกลายเป็นแบรนด์สินค้าเด็กที่แข็งแรงมากในอิตาลี หลังจากนั้นก็ขยายสินค้าออกไปให้ถึงกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะเห็นไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้งของครอบครัวเป็นหลัก เรียกว่าเป็นแบรนด์ Fast Fashion ครบวงจรตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่
↑ – OVS Florence, Italy
แค่เฉพาะในอิตาลีก็มีกว่า 6,000 สาขาแล้ว ส่วนการผลิต เราแบ่งออกทั้งหมด 12 ฐานการผลิต ทั้งในภาคเหนือของอิตาลี ยุโรปตะวันตก และในเอเชียด้วย ส่วนใหญ่สินค้าที่เป็นเทรนด์แฟชั่นจะผลิตในยุโรป ส่วนสินค้ากลุ่ม basic และ casual จะผลิตในเอเชีย เช่น จีน บังกลาเทศ และอินเดีย
Sell ‘em what they want
ด้วยความที่สินค้าค่อนข้างกว้างมาก เรามองว่าส่วนหนึ่งแบรนด์เข้ามาในตลาดทีหลัง ถ้าเรามัวแต่ให้ได้พื้นที่เท่ากับคู่แข่งในตลาด จะเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลานานมาก เราเลยสรุปกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะเลือกโลเคชั่นที่ดีที่สุด แล้วเปลี่ยนเป็นฟอร์แมตที่เหมาะสมโดยเลือกสินค้าบางกลุ่มมา นั่นแปลว่าสินค้าใน OVS แต่ละที่จะไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้คีย์หลักก็ยังเป็นสินค้าเด็ก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้กิน market share ของสินค้าทั้งหมดกว่า 40–50% เลยทีเดียว ขณะที่ฟาสต์แฟชั่นเจ้าใหญ่อื่นๆ จะขายแค่ 15–20 % เท่านั้น
ส่วนสินค้าผู้ใหญ่ เราจะใช้ที่ตั้งของสโตร์เป็นตัวกำหนด อย่างเช่น สาขาเมกา บางนาแห่งนี้ เราพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นครอบครัว มาเเฮงก์เอาต์กันทีหลายชั่วโมง เราเลยเน้นความเป็น family store คือเป็นเสื้อผ้า casual สบายๆ ไม่เน้นความหวือหวา แต่เน้นความเรียบเท่ ของทั้งพ่อ แม่ และลูก
อย่างเราเองก็มีลูกที่เริ่มโตเป็นสาวเหมือนกัน ซึ่งในฐานะแม่ที่ซื้อเสื้อผ้าให้ลูกจะเข้าใจดีว่าเด็กวัยนี้หาไซส์เสื้อผ้าลำบาก จะว่าไซส์ S ของผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ เพราะมันออกแบบมาให้มีไหล่ มีหน้าอก มีสะโพก บางทีใส่แล้วไม่พอดี โคร่งไปบ้าง อะไรแบบนี้ ในฐานะผู้บริโภคคิดว่าดีมากๆ หากมีแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับเด็กวัยนี้เลย
ในอนาคตเรามีแผนจะไปเปิดที่เซ็นทรัลเวิลด์ เราก็วางไว้ว่าจะเป็นสินค้าในกลุ่มแฟชั่น เข้าถึงคนวัยทำงาน วัยหนุ่มสาวขึ้นมาหน่อย หรือบางสาขาเป็นไลน์เสื้อผ้าเด็กอย่างเดียวเลยก็มีเหมือนกัน ด้วยความที่แต่ละสาขามีพื้นที่ที่จำกัด เราไม่สามารถขนสินค้าไปได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเลือกว่าแบบไหนตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด
Business Model ของ OVS ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นฟอร์เเมตใหญ่เท่านั้น มันเลยเป็นความน่าสนใจที่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของผู้บริโภค
Design for everyone
แค่พนักงาน OVS อย่างเดียวมีถึง 1,000 คน เฉพาะทีมดีไซเนอร์มี 300 คน จะอยู่ที่ออฟฟิศในยุโรปทั้งหมด เราแบ่งเป็น 16 catagories ใหญ่ๆ รับผิดชอบส่วนต่างๆ กัน เช่น แค่หมวดเสื้อผ้าเด็กอย่างเดียว เราก็แยกออกมาเป็น New Born, Baby, Boy–Girl แล้ว คือแตกออกเป็นทุกสเต็ป อย่างสินค้า basic casual หรือ ascessories ก็จะมีทีมย่อยๆ ลงไปอีก
หรือทีมที่ทำสินค้าหมวด trend ซึ่งต้องอัพเดทเทรนด์แฟชั่นในซีซั่นนั้นๆ เป็นพิเศษ เราเริ่มจากทำ master plan ก่อน จากนั้นทุกทีมก็จะไปทำงานกันให้ออกมาตามคอนเซ็ปต์ของเดือนนั้นๆ วางแผนว่าจะวางขายเมื่อไร ยังไง แล้วมีอะไรบ้างที่จะเอาไปแมทช์กับสินค้าหมวด basic ที่มีอยู่แล้วอีกที
Use it, don’t waste it!
เราเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นก็จริง แต่ถ้าถามว่าเราสร้างขยะแฟชั่นขึ้นมากมายมั้ย ตอบว่าเราไม่ได้ผลิตเสื้อผ้าขึ้นมามากกว่าความต้องการของผู้บริโภค พราะคนหันมาสนใจฟาสต์แฟชั่นมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาเข้าถึงง่าย การตัดเย็บได้คุณภาพประมาณหนึ่ง แล้วก็ทันสมัยพอสมควร การบริโภคเลยเปลี่ยนไป คนไม่จำเป็นต้องซื้อในราคาสูงเพื่อแลกกับของคุณภาพดีอีกต่อไปแล้ว
เรากลับมองว่าการมาของฟาสต์แฟชั่นกระตุ้นให้หลายแบรนด์คิดหาวิธีที่จะผลิตสินค้าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยซ้ำ บางแบรนด์ใช้วิธีเอาเสื้อผ้าชิ้นเก่านำมาแลกของใหม่ แล้วเอาช้ินเก่าไปทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่อไป เช่น นำ cotton ไปผ่านกรรมวิธีรีไซเคิล ผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่ได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งกรรมวิธีเหล่านี้ มีแค่เเบรนด์ใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำได้ เพราะค่าใช่จ่ายในการทำค่อนข้างสูง มันเลยไม่ได้แปลว่าแบรนด์ใหญ่จะสร้างขยะเสมอไป น่าสนใจมากกว่าฟาสต์แฟชั่นจะมีวิธีการจัดการกับการผลิตของตัวเองอย่างไร
Eco-friendly = The new era of fast fashion…
เราค่อนข้างจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ตั้งแต่ cotton ที่นำมาใช้ผลิตเสื้อผ้า ซึ่งมีแหล่งผลิตจากหลายที่ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางแถบอเมริกาใต้ OVS ใช้ฝ้ายออร์แกนิก 100% หมายความว่าเราใส่ใจตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก จนถึงผู้บริโภค มั่นใจได้ว่า eco-friendly แบรนด์เราทำเสื้อผ้าเด็ก ผ้าฝ้ายที่ได้มาเลยไม่ใช่แค่ต้องคุณภาพดี แต่ยังต้องผ่านการทดสอบว่าไม่ระคายเคืองต่อผิวด้วย อย่างมาตรฐานของฝั่งสหรัฐฯ คือ Cotton USA ส่วนของฝั่งยุโรปที่เราใช้จะเรียกว่า Oeko–Tex Certified เสื้อผ้าของ OVS ที่ผสม cotton จะผ่านมาตรฐานนี้ทุกตัว
ส่วนเรื่องของการใช้แรงงานก็เช่นกัน หลายแบรนด์เจอปัญหาเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานเด็ก หรือปัญหาเรื่องการจ่ายค่าแรง สำหรับเรา ไม่ได้กังวลตรงนี้ เพราะเวลาจะนำโปรดักส์ใดๆ เข้าไปขายในยุโรป จะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของบ้านเขาที่เข้มข้นมากอยู่แล้ว ทั้งการตรวจสอบคุณภาพของโรงงาน รวมถึงการใช้แรงงานด้วย
We made our own version!
จริงที่ฟาสต์แฟชั่นมักจะก๊อบปี้รันเวย์ แต่สำหรับ OVS เราไม่ได้ขายสินค้าที่แฟชั่นจ๋าขนาดนั้น เรามีความเป็น family สูง และ twist แฟชั่นให้เป็นแบบฝั่งอิตาเลียนคือเน้นความเรียบเก๋เสียมากกว่า มันเลยไม่ใช่การจ้องจะดึงเอารันเวย์มาทำตาม อีกอย่างเวลาที่พูดถึงเทรนด์ มันจะมี print of the season ต่างๆ อยู่แล้ว เช่น ปีนี้ลายดอกมา หรือลายตารางมา แต่ละแบรนด์ก็จะหยิบเอาคีย์พวกนี้ไปใช้ต่างกันออกไป ซึ่งเราก็นำมันไปพัฒนาต่อในแบบของตัวเองเช่นกัน
ในทางกลับกัน การละเมิดลิขสิทธิ์ในบ้านเรายังขาดการคุมเข้มอยู่มาก ใครขายดี แป๊บเดียวก็อยู่ในตลาดนัดกับราคาที่ถูกกว่าแล้ว เเต่เราคิดว่า OVS มีช่องว่างในตลาดอยู่มาก สินค้าเราไม่ได้แพง การเป็นฟาสต์แฟชั่นแปลว่าสินค้านั้นไม่ได้อยู่กับเราไปทั้งซีซั่น ของใหม่มีเข้ามาทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้นต่อให้ใครก๊อปฯ เรา เราก็ไม่ได้กังวล
ฟาสต์แฟชั่นหลายแบรนด์ตอนนี้กำลังประสบปัญหา เนื่องจากขยายฐานการผลิตมากเกินไป โดยเฉพาะการผลิตในประเทศจีนที่เรารู้กันดีอยู่ว่าต้นทุนในการผลิตต่ำมาก แต่ยังอยากได้กำไรเท่าเดิม จึงลดคุณภาพของสินค้าลง ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าผู้บริโภคจะรู้เอง แล้วเขาก็เลือกที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายให้กับอะไร
เราเวิร์คกันตรงนี้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด เพื่อให้แบรนด์ของเราเเข็งแรงที่สุดในเวอร์ชั่นของตัวเอง…
↑ – OVS MAGA Bangna
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากคว้ารางวัลกรังปรีซ์ สาขาเพลงประกอบโฆษณายอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน 2017 อาดิดาส ออริจินอลส์ยังคงพัฒนาผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง