วัยรุ่น วัยเรียน ตั้งแต่ยุคที่มีคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ตเข้าถึง คงไม่มีใครไม่รู้จัก Dek-D.com เว็บไซต์เพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะ ที่นับว่าเป็นเว็บแรก และเว็บเดียว ที่เปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นมาพูดคุยกัน เรื่องเรียน เรื่องความรัก หรืออ่านนิยาย ที่นับว่าโด่งดังมาก แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นของเน็ตไอดอลยุค 90 ในตำนาน ที่สำคัญอยู่คู่วัยรุ่นไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว
เรียกว่าโตมาพร้อมกัน ตั้งแต่วัยคอซอง จนวัยทำงาน สิ่งที่เราสังเกตเห็นมาตลอดของ Dek-D คือการเติบโต การปรับตัว และความนิยมที่ยังครองใจวัยรุ่น วัยเรียนมาตลอด รวมถึงจุดแข็งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือการเอาจริงเอาจังเรื่องการศึกษา ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเว็บบอร์ดที่ให้วัยรุ่นเข้ามาแชร์เรื่องเรียน หาที่เรียนพิเศษ เล่าประสบการณ์ความรักใสๆ เขียนนิยาย จนปัจจุบันพัฒนามาจัดสนามสอบจำลอง จัดอีเว้นท์ ทำทอร์คโชว์ เรียกว่าเป็นภาพที่ใหญ่และครอบคลุมขึ้นมาก ภายใต้แบรนด์ Dek-D
เพราะเชื่อว่าตลอดเส้นทาง 2 ทศวรรษมันไม่ง่าย หลายครั้งเริ่มถอดใจ หลายครั้งเจอวิกฤตอยากล้มเลิก แต่สุดท้ายก็ยังก้าวผ่านมาได้จนถึงยุควัดใจ อย่างยุคดิสรัปชั่น แต่ Dek-D ก็ยังยืนหยัดได้อย่างมั่นใจ นับเป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ในตำนาน ที่วันนี้ดู๊ดดอทจะพาไปถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรงของหนึ่งในผู้ก่อตั้ง คุณปอล ณปสก สันติสุนทรกูล Chief Operating Officer บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด เพื่อเป็นทั้งต้นแบบ แนวทาง หรือเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับคนที่ทำธุรกิจในยุคนี้
“ผมแค่อยากมีพื้นที่ให้วัยรุ่นมาพูดคุยกันตามประสา”
คุณปอลเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเว็บไซต์ Dek-D ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตามประสาเด็ก ม.ปลาย ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ ที่อยู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าช่วงนั้นมีแต่เว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดที่มีแต่ผู้ใหญ่คุยกันทั้งนั้น ก่อนชวนเพื่อนอีก 4 คนทำเว็บไซต์สำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ
“ผมเรียนสายวิทย์ และมีวิชาเลือกเป็นวิชาคอมพิวเตอร์ ยุคนั้นเป็นยุคเริ่มต้นที่เพิ่งมีอินเตอร์เน็ตใหม่ๆ ประมาณว่าเว็บไซต์เพิ่งจะเกิดขึ้น และจะมีโปรแกรมแชท อย่าง ICQ ตอนเด็กๆ เวลาเราได้สัมผัสกับพวกนี้ก็จะรู้สึกเหมือนมันเป็นของเล่น ทุกวันตอนเย็นหลังเลิกเรียนเราก็จะเล่นกัน เปิดเว็บนู้นเว็บนี้ เจออะไรแปลกๆ ก็จะแชทส่งให้ดูกัน แต่ปรากฏว่ามันไม่มีเว็บไหนที่วัยรุ่นเอาไว้คุยกันเลย บางทีเราจะเข้าไปถาม เช่น อยากเรียนพิเศษ เรียนที่ไหนดี เราก็จะได้คำตอบของผู้ใหญ่กลับมา แบบเป็นที่เดิมๆ ที่เราไม่อยากเรียน ไม่ถนัด บางทีก็มีดุว่า ทำไมเราต้องเรียนพิเศษ ทำไมเราไม่ตั้งใจเรียนในห้อง เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา เราเลยมาคุยกับเพื่อนว่า เรามารวมตัวกันสร้างเว็บสำหรับวัยรุ่นดีไหม”
หลังคุณปอลรวมตัวเพื่อนร่วมห้อง ได้ทั้งหมด 4 คน และเริ่มต้นสร้างคอนเทนต์กันเอง ด้วยเรื่องใกล้ตัว อย่างเทคนิคการเรียนวิชาต่างๆ เพราะคิดว่าเหมาะสมกับเด็กเรียนอย่างพวกเขามากที่สุด จากนั้นก็เริ่มมีเรื่องประสบการณ์ความรักของเด็กมัธยมบ้าง หรือเอานิยายจากเพื่อนต่างโรงเรียนมาลงบ้าง ให้เพื่อนๆ ห้องอื่น โรงเรียนอื่นช่วยเขียนบ้าง เรียกว่าพยายามรวบรวมสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของวัยรุ่นมาใส่ไว้ให้มากที่สุด
จากเว็บบอร์ดที่อัพเดตแค่เรื่องในโรงเรียน สู่การรวมเว็บลิ้งค์จากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ
“ผ่านไป 1 ปี เว็บเราโตขึ้นเร็วมาก จากการบอกต่อ เริ่มมีคนจากโรงเรียนอื่นเข้ามาร่วมตั้งกระทู้บ้าง เอาเว็บลิ้งค์โรงเรียนมาแปะไว้บ้าง จนเป็นพันๆ โรงเรียนจากทั่วประเทศ จนเว็บ Dek-D กลายเป็นศูนย์กลางรวมลิ้งค์โรงเรียนจากทั่วประเทศ ซึ่งเราสามารถแวะไปดูเพื่อนโรงเรียนอื่นคุยกันได้ด้วย”
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ“เน็ตไอดอลยุค 90”
จากการรวมตัวกันของหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลที่หลากหลาย และลงลึกมากขึ้น ทั้งในเรื่องการศึกษา ไลฟ์สไตล์วัยรุ่น การสอบเอ็นทรานซ์ รีวิวการสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงที่ฮิตสุดๆ อย่างเว็บบอร์ดแชร์ภาพคนน่ารัก คนหล่อ คนสวย ดาวเด่นของแต่ละโรงเรียน ซึ่งดารานักแสดงหลายคน ก็เคยโด่งดังจากการถูกแชร์ภาพบนเว็บบอร์ดมาก่อน ในสมัยวัยรุ่น วัยเรียน จนถูกเรียกว่าเป็น “ตำนานเน็ตไอดอลยุค 90”
รายได้ก้อนแรกของเด็กมัธยม กับความคิดที่จะขายเว็บหลักล้าน
“มันเป็นความคิดเพ้อฝัน ตอนแรกที่ทำเราเห็นว่าผู้ใหญ่เค้าสร้างเว็บกัน แล้วเค้าขายเว็บได้เป็นหลักล้านบาท ยังคุยกันว่าไม่ต้องถึงร้อยล้านหรอก ล้านแรกเราก็ขายแล้ว (หัวเราะ) แต่ในความเป็นจริง.. มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แค่เราจะหารายได้ให้คนมาซื้อโฆษณา ยังยากเลยในยุคนั้น เราไม่รู้วิธีมาก่อน จนทำมาได้ 1 ปี ก็มีสถาบันกวดวิชาติดต่อมา ว่าเค้าอยากสนับสนุน อยากลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์สถาบันเค้า นั่นเลยเป็นรายได้ก้อนแรก และที่สำคัญมันเปิดโลกในเราได้เรียนรู้ว่า ในการขายของ ถ้าเรามีกลุ่มเป้าหมายตรงกับที่เค้าจะทำการตลาดเนี่ย เราก็มีโอกาสจะขายได้นะ”
เดี๋ยวอยากทำ เดี๋ยวอยากเลิก?
ในวัยของเด็กม.ปลาย ที่เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้จะเริ่มมีรายได้เข้ามาไม่ขาดสาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงหลัง ม.6 ที่คุณปอล และเพื่อนๆ ต้องเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์ ซึ่งในมุมหนึ่งทุกคนจะต้องวางแผนชีวิต เลือกคณะ หรือเลือกเส้นทางอาชีพในอนาคต
“เรารู้สึกมีกำลังใจนะที่เราหารายได้ได้ เหมือนเราได้ค่าขนมเพิ่มขึ้น แต่อีกมุมคือในเมื่อเรารับเงินมาแล้ว เราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ลูกค้ามาซื้อบริการเรา สิ่งนี้มันทำให้เรายังคงต้องเลือกทำเว็บกันต่อไป ถึงจะต้องเรียนหนัก ติวสอบหรือต้องแยกย้ายกันไปเรียนคนละคณะ คนละมหาวิทยาลัย แต่ไม่เป็นไรเรายังทำออนไลน์ได้ และที่สำคัญเรายังมองเห็นโอกาสเติบโตอยู่ เราเลยทำไปเรื่อยๆ จนใกล้เรียนจบ ก็เป็นอีกช่วงที่ตัดสินใจกันหนัก เหมือนตอนจบ ม.ปลายเลย ว่าเราจะแยกย้ายไปทำงานประจำกันไหม จะทิ้งตรงนี้หรือยังไงดี แต่สุดท้ายก็ยังตัดสินใจทำกันต่อ (หัวเราะ)”
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีวันนี้?
“ถ้าเราตัดสินใจแยกย้ายกันไปทำงานประจำตอนนั้นมันก็คงไม่มีวันนี้ แต่เพราะเราตัดสินใจทำต่อ และออกมาทำเต็มตัว เรามีเวลาให้มันตลอดเวลา เราทำคอนเทนต์ได้จริงจังมากขึ้น ทำระบบให้มันเสถียรขึ้น ผู้ก่อตั้งทุกคนก็พยายามใส่แรงเข้าไปเต็มที่ อีกอย่างเราเป็น User Genarated Content ที่ให้ใครเข้ามาสร้างคอนเทนต์ก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องมานั่งเขียนคอนเทนต์เองแล้ว มันทำให้ช่วงนั้นเว็บเราเติบโตขึ้นเร็วมากๆ บวกกับที่เราเริ่มจ้างพนักงานเพิ่ม จากที่เราทำกันเองทุกขั้นตอนตั้งแต่เขียนโปรแกรม วางระบบ สร้างคอนเทนต์ จนออกไปขายงานเอง แต่มีลูกน้องเพิ่ม เราก็ต้องรีบหารายได้เพิ่มเหมือนกัน”
ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน
“ตั้งแต่เราเป็นบริษัทจำกัดในปี 2007 เราก็เติบโตขึ้นมากทุกปี เหมือนสตาร์ทอัพในยุคนี้ ที่มันเติบโตดับเบิ้ล แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกปี จนถึงปีนึงที่มันเริ่มอิ่มตัวครั้งแรก ประมาณปี 2010 ซึ่งก็ทำมา 10 ปีแล้ว มันเริ่มจากที่เทคโนโลยีเว็บมันพัฒนาได้แค่นั้น และเริ่มมีคู่แข่งเข้ามาด้วย มีเฟซบุ๊คเข้ามา 2008 มี Hi5 เข้ามา สุดท้ายHi5 หายไปก่อน พอเฟซบุ๊คอยู่ยาว ก็เริ่มกระทบ และ Traffic ก็เริ่มไหลออกไป เทคโนโลยีที่พัฒนาได้ไกลกว่านี้ ในความสามารถจำกัดของเรา ก็สู้ต่างประเทศไม่ได้ มันเลยทำให้เรานิ่ง ถ้าวันนั้นเรายังทำเหมือนเดิม ใช้โมเดลเดิม คือทำแค่สร้าง Traffic เน้น Content Traffic และหารายได้จากโฆษณา เราคงเจ๊งไปแล้ว”
ปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอด
“ตอนนั้นพวกเราก็เริ่มกังวลแล้ว ว่าจะทำยังไงดี นอกจากการปรับตัว Move ไปอยู่บนโซเชียลมีเดีย และปรับคอนเทนต์ไปตามยุคสมัย ก็ลองหารายได้จากทางอื่นดู และเนื่องด้วยชื่อแบรนด์ Dek-D มันแข็งมาก เราเลยต่อยอดหรือหารายได้ทางอื่นได้ เช่น เรามีคอนเทนต์ในเว็บ มีทีมคอนเทนต์ที่เขียนเกี่ยวกับการศึกษาและมีฟีดแบ็กที่ดี เราก็เริ่มมีบริการ SMS ที่แจ้งเตือนทางมือถือ ค่าสมัคร 29 บาทต่อเดือน ช่วงแรกมีรายได้ก้อนใหญ่มาก และเราก็เริ่มเปิดเว็บที่ 2 เป็นเว็บเกี่ยวกับสุนัข ชื่อว่า Dog i like คือลองกระจายความเสี่ยงบ้าง ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ
พอปี 2012-2013 ก็เริ่มทำ Event แต่ยังเน้นด้านศึกษา มีทอร์คโชว์ มีติว งานแฟร์ และเริ่มขยายมาจัดสอบ ตอนแรกจัดแค่เล็กๆในกรุงเทพ ก็ขยับมาจัดสอบทั่วประเทศ บริการจัดสอบ ภายใต้แบรนด์เด็กดี ส่วนสายนิยายก็มีการพัฒนาระบบแอพฯ เพราะคนย้ายมาใช้แพลตฟอร์มแอพลิเคชั่นมากขึ้น เราเลยพัฒนาแอพฯให้นักเขียนสามารถเอานิยายมาลงและเปิดขายเองได้ แล้วเราก็ได้ค่าพัฒนาแอพไปส่วนนี้ไป”
แบรนด์ Dek-D คือผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น และการศึกษา
จากการขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของ Dek-D ทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์และโปรดักส์ต่างๆ เกี่ยวกับวัยรุ่น และการศึกษามากมาย จากเว็บไซต์ Dek-D สู่แบรนด์ Dek-D ธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากประสบการณ์เฉพาะด้านที่สั่งสมมานาน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น ด้านการศึกษา และด้านมาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์
“บริษัทของเราก็ไม่ได้ใหญ่โตมาก เราเติบโตมาได้ด้วยทุนสะสมที่เราค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้กู้ยืมใคร ส่วนวิธีการเติบโตของเรา คือพยายามใช้ความแข็งแรงที่มี ไม่ว่าจะด้านวัยรุ่น ด้านการศึกษา การพัฒนาโปรแกรม การทำมาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์ เราไม่เคยทิ้งด้านนี้ เพราะเราทำมันมาตลอดอย่างต่อเนื่อง พวกนี้มันเป็น Knowhow ของเราหมดเลย เราจะใช้สิ่งที่เรามีอยู่มามิกซ์ให้เกิดโปรดักซ์ใหม่ ที่จะหารายได้ให้เราได้ ทุกวันนี้เราก็ยังต่อยอดมาจากตรงนี้แหละ”
ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแบบ Win – Win
“ภายใต้แบรนด์ Dek-D เราทำหลายอย่าง และก็ประสบความสำเร็จทีละอย่าง โดยจะทำแบบ Win-Win คือต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อย่างการจัดสอบ เด็กได้ประโยชน์มากแน่นอน แต่เราก็ไม่ได้จัดให้ฟรี มีค่าใช้จ่าย ทางด้านงานแฟร์ งานอีเว้นท์ เราก็ได้ประโยชน์ ด้านภาพลักษณ์การศึกษา เราพยายามให้ได้ประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน โดยใช้ประโยชน์จากโซเชียลเนี่ยแหละ ส่วนเว็บไซต์ตอนนี้ Position มันเปลี่ยน คนยุคนี้ส่วนใหญ่จะอ่านผ่านแฟนเพจ ซึ่งเว็บก็ยังมีประโยชน์ คือ เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิง เช่น มีบทความรีวิวลึก ให้คนมาเสิร์ชอ่านกัน รวมถึงจะเป็นที่รวมโปรดักส์ Dek-D ว่ามีจัดสอบ มีอีเว้นท์ อะไรบ้าง”
ก้าวต่อไปของ Dek-D หลังผ่าน 2 ทศวรรษ
“2 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารได้ตั้ง Vision ร่วมกัน เราจะเห็น Develop New Generation มากขึ้น และเราพยายามจะทำ Project ที่พัฒนาคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญ User ของเราต้องได้ประโยชน์ด้านการศึกษา ได้โอกาสในอนาคต มีโอกาสในอาชีพและการงาน ซึ่งด้วยความถนัด ความเชี่ยวชาญ และความแข็งแรงของแบรนด์ Dek-D เราจะมุ่งมั่นทำด้านนี้ต่อไปแน่นอน
สำหรับ Product ที่กำลังจะออกมา เราคงไม่ได้เน้นทางมีเดียเป็นหลัก แต่จะพยายามใช้ความรู้ที่เรามี ทั้งคอนเทนต์ อีเว้นท์ การตลาดออนไลน์ และการ Develop Programming ต่างๆ เราจะใช้พวกนี้สร้าง Product ใหม่ขึ้นมาอีกที รวมถึงเน้นต่อยอดเรื่องการศึกษาและขยายกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยที่โตขึ้นมาอีกหน่อย ในกลุ่มมหาวิทยาลัยหรือวัยทำงานตอนต้น เช่น จากเดิมจัดสอบแค่ ม.3 ม.6 ก็ไปกลุ่ม สอบ ก.พ. สอบเข้าราชการ”
มองระบบการศึกษาไทยกำลังเปลี่ยน แต่ Dek-D จะสนับสนุนเรื่องการศึกษาไม่เปลี่ยน
“ที่ผ่านมา Dek-D จะโฟกัสที่ ม.ปลายเป็นหลัก เราเลยมีข้อมูลว่า เด็กเค้าเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เค้าชอบ หรือการค้นหาตัวเองเยอะมาก ว่าต้องเรียนอะไร แบบไหน ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยลัยได้ไหม ซึ่งมันเป็นข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนทุกวันนี้ มันอยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยน ทุกคนรู้อยู่แล้วล่ะ แต่ทางโรงเรียนอาจจะยังไม่พร้อม ซึ่งในความจริงมันถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้วนะ เพราะเด็กในยุคนี้ ไม่ได้สนใจแค่ระบบการสอบ แต่สนใจในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น อนาคตจะทำอะไร จะได้เงินจากมันยังไง บางคนคิดว่าไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น ระบบมันเริ่มเปลี่ยนจากผู้ได้รับการศึกษา เหมือนกับที่เราเริ่มเห็นบางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัย เริ่มทำอะไรใหม่ๆ หรือแข่งขันกันมากขึ้น
ส่วน Dek-D จะยังคงสนับสนุนเรื่องการศึกษาต่อไป อย่างจัดสอบ ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น และยังทำต่อไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่จะสนับสนุนมากขึ้นคือ การค้นหาตัวเอง เช่น ล่าสุดเราจัดอีเว้นท์ทอร์คโชว์ ดีเบตกันเรื่องคณะที่น้องอยากเข้า เราพยายามทำอะไรแบบนี้บ่อยๆ ให้น้องรู้ว่าจะเหมาะกับอะไร เรียนไปจะทำอาชีพยังไง ให้เค้าได้เห็นช่องทางที่หลากหลาย นอกจากนี้ เราเริ่มทำพวกแนะนำคลาสเรียนที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียนปริญญา แต่น้องสามารถเรียนรู้ ไปประกอบอาชีพได้ แล้วเราก็เพิ่มคอนเทนต์ เช่น การหารายได้ระหว่างเรียนจากความสนใจ เพื่อที่หวังว่าน้องๆ จะได้เจอสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ใช่ และพัฒนามันต่อไป เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต”
RECOMMENDED CONTENT
เป็นนักแสดงหนุ่มหล่อเซอร์ทั้งคู่สำหรับ ณัฏฐ์ กิจจริต และ “ทู” สิราษฎร์ 2 หนุ่มนักแสดงคาแรคเตอร์เท่ห์ ในภาพยนตร์เรื่อง “4KINGS” ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของทั้งคู่ หลังจากที่เคยร่วมงานกันมาก่อนในภาพยนตร์เรื่อง “APP WAR แอปชนแอป” ในฐานะเพื่อนสนิท