‘กีฬาลูกผู้ชาย’
คงเป็นคำนิยามแรกๆ เมื่อเรานึกถึงศิลปะการต่อสู้และสารพัดกีฬาหมัดมวย เราจึงไม่แปลกใจที่นักกีฬาสาวดาวรุ่งอย่าง ริกะ อิชิกะ จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษในวงการกีฬา Martial Arts ที่เต็มไปด้วยภาพจำอันแข็งแกร่ง ไม่เพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดี รวมถึงท่า Armbar สุดโหดที่ล้มคู่ต่อมาแล้วหลายราย ริกะก็ยังมีเรื่องราวและเบื้องหลังอันน่าสนใจมากมายที่ทำให้เราอยากไป #VISIT เธอ
—————
Tiny Doll
>> จุดเริ่มต้นของ Smiling Assassin
ผู้หญิงตัวเล็กน่าจะเป็นคำนิยามแรกที่ทำให้คนนึกถึงริกะ แต่การเป็นทั้งลูกครึ่งและเด็กตัวเล็กในโรงเรียนไทยนั่นดูไม่ใช่เรื่องง่าย ริกะเคยให้คำนิยามว่าวัยเด็กของเธอคือ เด็กที่โดนแกล้ง
“ด้วยความที่เป็นเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นในโรงเรียนไทยเลยเป็นเป้าสายตา ตอนเด็กๆ มักจะถูกแกล้ง ถูกล้อ ถูกทำร้ายสารพัด หลังจากนั้นเราจึงคิดได้ว่าเราควรเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกรังแกอีก”
ตอนอายุ 13 ปีเธอจึงตัดสินใจเริ่มต้นเรียนรู้และฝึกฝนศาสตร์แห่งการป้องกันตัวทั้งไอกิโดะและคาราเต้เพื่อฝึกฝนจิตใจตัวเองให้แข็งเเกร่ง
“เราไม่ได้ฝึกศิลปะป้องกันตัวเพื่อแก้แค้นหรืออะไร เราอยากให้ตัวเองเข้มแข็งมากขึ้นมากกว่า การฝึกศิลปะการต่อสู้แน่นอนว่ามันทำให้ร่างกายเราแข็งแรง แต่มันก็ทำให้จิตใจเราเข้มเเข็งขึ้นด้วย”
Be Strong
>> มากกว่าร่างกายแข็งแรง แต่คือจิตใจที่แข็งแกร่ง
เเม้จะเคยเล่นกีฬาและฝึกศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก แต่ริกะเองก็ห่างหายจากวงการนี้ไปตั้งแต่ในช่วง ม.ปลาย และเพิ่งได้กลับมาฝึกศิลปะป้องกันตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเริ่มต้นเป็นนักกีฬามืออาชีพในวัน 26 ปี นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอก็ไม่ได้มองว่าอายุนั้นมันเป็นอุปสรรคสำคัญในอาชีพ
“มันยากเพราะว่าเราอายุเยอะกว่าคนอื่นเขา เราเพิ่งเริ่มแต่คนอื่นเขาเป็นนักกีฬากันมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าถามว่ามันเป็นอุปสรรคไหม สำหรับเราไม่ แค่เราต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่น”
เมื่อเราถามว่ามันเป็นเพราะว่าเธอมีเบสิคที่ดีอย่างแล้วหรือเปล่าเธอถึงมองว่าอายุไม่ใช่อุปสรรค ริกะ ก็ตอบกับเรายิ้มๆ ว่า “คิดว่าน่าจะเป็นเพราะความรักมากกว่า ถ้าเรารักที่จะทำอะไรเราก็จะทำมันได้ดีแหละ ถึงต่อให้เราไม่มีพื้นฐานเลยก็ตาม แต่ถ้าเกิดเรารักเราก็จะต้องทุ่มเทจนกว่าเราจะทำให้ได้”
Professional
>> สิ่งที่เปลี่ยนไปในฐานะมืออาชีพ
แน่นอนว่าการเล่นกีฬาในฐานะมืออาชีพกับมือสมัครเล่นนั้นต่างกัน ยิ่งการเป็นมืออาชีพที่ถูกจับจ้องตลอดเวลาอย่างริกะ
“หลังจากที่เราสู้เเมทช์แรกจบเรารู้สึกว่าโอเค มันดี เราอยากเก่งกว่านี้ อยากพัฒนาตัวเองก็เลยทำให้เราตั้งใจที่จะซ้อมมากขึ้น แล้วก็สิ่งที่ตามมาคือมีคนรู้จักมากขึ้น มีเเฟนๆ ที่คอยซัพพอร์ทให้กำลังใจ เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีแฟนคลับเยอะขนาดนี้ คิดว่าอย่างน้อยก็คงจะมีคนที่ชื่นชอบบ้าง จากคนที่ดูมวยหรืออะไรอย่างนี้
แต่ว่าหลังจากที่เรามาเป็นนักกีฬาปุ๊บกลับกลายเป็นว่า คนที่ไม่เคยดูมาก่อนเขาก็หันมาดูเรา อาจเพราะการที่เราเข้าถึงง่ายกว่า เวลาคิดถึงว่าเป็นนักมวย เราก็ต้องคิดถึงคนที่แบบตัวใหญ่ๆ ล่ำๆ กล้ามบึ้กๆ ดูดุดันตลอดเวลา แต่พอมาเจอเราที่ดูมีความเฟรนด์ลี่ ดูเข้าถึงง่ายมากกว่า ดูไม่ได้ซีเรียส คนก็แบบจะติดตาม สนใจมากขึ้น”
“แต่มันก็มาพร้อมกับความกดดันมากๆ อย่างถ้าเกิดเราเป็นเเค่ nobody หรือเป็นแค่นักกีฬาคนหนึ่งที่ตั้งใจสู้ในสายอาชีพ เราก็จะคิดว่าชนะก็ดี เเพ้ก็ไม่เป็นไรครั้งหน้าเอาใหม่ แต่พอหลังจากที่มีคนสนใจติดตามเยอะ ยิ่งคนบอกว่าเราเป็นตัวเเทนของประเทศเลยก็ว่าได้ มันยิ่งทำให้เรายิ่งกดดัน แต่ว่าความกดดันก็เป็นเหมือนเเรง เป็นพลังที่เรายิ่งต้องตั้งใจมากขึ้น”
Beautiful Women
>> ข้อจำกัดของหญิงสาวและความงาม
การเป็นมืออาชีพหญิงในวงการกีฬาลูกผู้ชายก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะถามเธอว่า เพศหญิง เป็นข้อจำกัดในอาชีพของเธอหรือไม่
“ ปัจจุบันผู้หญิงก็มีเทคนิค มีการต่อสู้ที่ไม่ได้ต่างจากผู้ชายมาก แล้วเราก็ต่อสู้กับผู้หญิงเหมือนกันเพราะฉะนั้นเรื่องสรีระไม่ได้เป็นข้อจำกัดเลย แต่สิ่งที่ริกะรู้สึกว่ามันยังเป็นข้อแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย คือผู้หญิงมักจะโดนสนใจในเรื่องรูปลักษณ์ผ่านนอกมากกว่า เช่น อ้วนขึ้น ผอมลง หน้าเป็นสิวหรือบางทีถึงขั้นโดนตำหนิงว่าใส่ชุดดูรัด ดูยั่วยุทางเพศหรือเปล่า
ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่จิตใจไม่ได้แย่เขาก็ไม่สนหรอก แต่พอเป็นคนที่เขาไม่ใช่เเฟนหรือดูผ่านๆเขาก็จะคิดแต่สนใจแต่ผ่านนอกแทนที่จะสนใจความสามารถจริงๆ ของเรา นั้นคือสิ่งที่เป็นข้อจำกัด เป็นประเด็นที่ริกะมองว่ายังยากที่จะหายไปจากนักกีฬาผู้หญิง”
หากได้ตามข่าวคราวของริกะ เราจะพอรับรู้ได้ว่านอกจากความสามารถบนสังเวียน อีกหนึ่งสิ่งที่เธอมักถูกพูดถึงเสมอคือเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก
“เราว่าหน้าตาเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักนะ ถ้าถามว่าเราโอเคไหมกับการถูกมองจากภายนอกก่อน เราก็ไม่ได้บอกว่ามันโอเคหรอก แต่มันก็ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ ทำให้คนรู้จัก แต่พอคนรู้จักหน้าตาปุ๊บ เขาก็จะต้องอยากรู้ว่าความสามารถเราเป็นยังไง มันก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองเสมอเพื่อไม่ให้เขามาดูถูกเราได้ว่ามีดีแค่หน้าตาอะไรอย่างนี้”
Public Finger
>> บุคคลสาธารณะกับปัญหาโค้ชคีย์บอร์ด
ในเวลานี้ริกะเป็นมากกว่านักกีฬา แต่เธอเป็นที่จับตาเป็นที่สนใจจากสาธารณะชน ริกะจึงหลีกเลี่ยงสารพัดคำวิจารณ์ทั้งที่หวังดีและประสงค์ร้ายไม่ได้
“เราว่าไม่มีใครไม่โดนหรอก แต่โดนมากโดนน้อยแตกต่างกันไป ยิ่งคนที่มีคนรู้จักเยอะเนี่ยก็จะมีโอกาสที่จะโดนได้เยอะ แล้วเราก็ได้ยินบ่อยมากเลยเรื่องที่ว่าเป็นคนดังก็ต้องรับให้ได้สิอะไรยังเงี้ย แต่เรารู้สึกว่าคุณไม่ได้มีสิทธิ์อะไรที่จะมาทำตรงนี้ นึกออกไหมว่าเราต้องเคารพสิทธิ์คนอื่นด้วย
ในส่วนของคนที่ด่า เราแทบไม่ตอบเราเพราะเราคิดว่าเขาไม่ใช่คนที่รักในกีฬาเขาเเค่เป็น hater แล้วก็มีหลายคนที่มาสอน เราก็คิดว่าเขาเป็นคนหวังดีคนหนึ่งแหละที่อยากเห็นเราดีขึ้น พัฒนาขึ้น สำหรับคนที่มาแนะนำเราก็อยากขอบคุณแหละ แต่ว่าเราก็มีโค้ช มีคนดูแล บางทีเราก็ทำอยู่นะ อาจจะทำยังไม่ดีแต่ก็พยายามเต็มที่เเล้ว แต่จะดีขึ้นต่อไป”
The Best of Rika
>> ริกะที่อยากจะเป็น
ตลอดการสัมภาษณ์สิ่งที่เราสัมผัสได้จากริกะคือความพยายาม และความุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ตนเองเป็นริกะที่ดีขึ้น จนเราต้องถามว่าแล้วอะไรคือ The Best ที่ริกะกำลังพูดถึง
“ถ้าในส่วนของอาชีพการเป็นนักกีฬาทุกคนก็คงคิดว่าการเป็นเเชมป์สิถึงจะได้เป็นเดอะเบส แต่สำหรับริกะแล้วตอนนี้มันเบสในระดับหนึ่งแล้วจากการที่เราได้เข้ามาสู่อาชีพนี้ ทั้งที่แต่ก่อนมีแต่คนที่ไม่สนับสนุนมีคนดูถูกเราเยอะแยะว่าเราทำไม่ได้ เราก็แสดงให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ส่วนเรื่องในอนาคตถ้าเราจะได้เป็นแชมป์ก็เป็นอีกเลเวลหนึ่ง
แต่ว่าเป้าหมายหลักๆ ของเราแล้ว เหมือนที่ริกะพูดตลอดว่าอยากให้คนเปิดใจยอมรับกีฬานี้มากขึ้น และตัวเราเองคงไม่ถึงกับต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลก แต่ว่าถ้าเป็นผู้หญิงที่เก่งหนึ่งในนั้นจะต้องมีเรา นั้นก็คงเป็นเดอะเบสที่สุดเเล้ว”
ติดตาม Rika Ishige ได้ที่
facebook.com/RikaTinyDoll
instagram.com/rikatinydoll
RECOMMENDED CONTENT
บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ร่วมกับ บริษัท บีฮีมอธ แคปปิตอล จำกัด, บริษัท นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด พร้อมส่งภาพยนตร์เรื่องราวเเห่งแรงบันดาลใจที่สร้างจากเรื่องจริงของโปรกอล์ฟ