ไม่แน่ใจว่าเรารู้จัก t_047 หรือ บ้านข้างๆ หลังนี้มานานเท่าไหร่ แต่มันก็นานพอที่จะทำให้เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของแอ็คเคาท์นี้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่าไม่เพียงแค่ท้องฟ้าที่เปลี่ยนไป แต่หมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากเด็กนักเรียนเป็นนักศึกษา รวมถึงความคิดที่เติบโตในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ผ่านข้อความที่เขาบันทึกประกอบแต่ละภาพไว้
นอกเหนือไปจากภาพถ่ายของบ้านข้างๆ เราเเทบไม่รู้เลยว่า ‘ตูน ณัฐธีร์ อัครพลธรรักษ์’ คนนี้คือใคร แม้ว่าเขาจะไม่ได้ตั้งใจปิดบังตัวตน แต่ที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเองซักเท่าไหร่ ในนิทรรศการ ‘Sky of Life’ Exhibition by บ้านข้างๆ ครั้งนี้จึงเป็นการแสดงตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ t_047 คือใครและนี่คือบทสนทนาที่ทำให้เรารู้จักตูนไปมากกว่า instagram – ‘บ้านข้างๆ’
จุดเริ่มต้นของ t_047
ช่วงม.5 เทอม 2 เป็นช่วงที่เข้าสู่ยุคฮิปเตอร์ คนจะเริ่มถ่ายรูปตึก รูป sculpture อะไรต่างๆ ผมดูเเล้วรู้สึกว่ามันเท่ครับ ก็เลยอยากจะถ่ายอะไรที่ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์เราบ้างใน instagram ตัวเอง ก็เลยเริ่มหาสิ่งรอบๆ ตัว ที่บ้านผมจะมีหน้าต่างแค่มุมเดียวพอเปิดไปแล้วก็จะเห็นเป็นมุมนี้เลย
ผมไม่ได้ถ่ายทุกวัน แต่พอมันเปลี่ยนวัน เปิดไปแล้วเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งก็เลยถ่ายอีก แล้วพอถ่ายไปเรื่อยๆ เพื่อนใน Instagram เราก็เริ่มจะบ่นแบบมึงถ่ายตึกนี้อะไรวะ ตอนนั้นก็โอเคเราไม่ฟังนายบ่นละ ก็เลยไปเปิดเเยกเป็นอินสตราแกรม t_047 ครับ เหมือนกับว่าเราจะเปิดแกลลอรี่นี่ไว้ดู เวลาเห็นมันเรียงกันหลายๆ รูปแล้วสวยดี ก็โอเคเปิดไว้ดูคนเดียวก็ได้
คนมาตามเราเยอะขึ้นตอนไหน
เป็นช่วงที่เหมือนมีพี่ป้อม lomosonic เอาไปแชร์ ตอนนั้นคือทำให้ follower เพิ่มเป็นหลักพัน คือก็งงแต่ก็สนุกดีครับ แล้วจะมีช่วงหนึ่งที่มาเยอะมาก อยู่ๆ ก็กระโดดจากหลักพันไปเป็นหลักหมื่นเพราะว่าคนเริ่มไปพูดต่อ ไปเขียนเป็นกระทู้ เขาพูดประมาณว่าเขาแอบชอบคนที่ถ่ายรูปแอ็คเคาท์นี้ (แล้วสุดท้ายได้รู้จักไหม) ก็ไม่ได้รู้จักหรอกครับ แต่ว่าเขาเขียนดีมากเลย ตอนนั้นคนแชร์ออกไปเป็นหมื่นเลย เป็นบล็อคเขียนอะไรซักอย่าง แล้วคนก็เริ่มตามมา ผมก็เริ่มตกใจ แต่ตอนนั้นผมก็เขียนแคปชั่นบันทึกอะไรของผมไปเรื่อยๆ หลังๆ ค่อยมาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับ follower
ทำไมถึงเริ่มมามีปฏิสัมพันธ์กับ follower
ตอนแรกมันก็เป็นพื้นที่ๆเราได้เข้ามาระบายความรู้สึกตัวเองในมุมที่เราอ่อนไหวกับบางเรื่อง เพราะว่าในชีวิตจริงเราไม่ค่อยเเสดงออกในด้านนี้ เเล้วก็ไม่อยากโพสสเตตัส เพราะเดี๋ยวคนก็เเซว เพราะฉะนั้นลงในนี้ดีกว่า
แต่หลังจากนั้น สิ่งที่รู้สึกสิ่งแรกเลยคือ มันมีคนที่รู้สึกแบบเดียวกับเราในช่วงเวลาเดียวกับเราอยู่ บางเรื่อง บางโมเม้นต์ในชีวิตที่ผมรู้สึกอะไรแล้วพอเราเขามารู้สึกด้วยกัน เขาเข้ามาคอมเม้นต์มาอะไรแบบนี้ เราก็รู้สึกว่าเหมือนเรามีเพื่อนเลย แล้วถ้าเราได้ทำความรู้จักกับคนๆ นั้น ชีวิตเราน่าจะดีขึ้น น่าจะไม่เหงา คือเราเป็นเด็กขี้เหงาครับ แต่ก็อยากมีเพื่อน พูดเเล้วเศร้าเนอะ เหมือนเป็นเด็กไม่เหมือนเพื่อน ถ่ายรูปคนเดียว (หัวเราะ)
คิดว่าคนตามเราเยอะขนาดนี้เพราะว่าอะไร
ผมว่ามันมีทั้งเรื่องของอาร์ต บางคนอาจจะเเค่อยากเห็นว่าท้องฟ้าวันต่อไปจะเป็นยังไง บางคนอาจจะเห็นว่ามันสวยดี หรือบางคนมาคุยกับเรา เขารู้สึกว่าเหมือนการที่ติดตามมันเข้าไป healing ความรู้สึกของเขา ก็คงเหมือนที่มัน healing ความรู้สึกผมเหมือนกัน อันนี้ก็เลยเป็นจุดประสงค์ที่จัด exhibition ครั้งนี้ด้วย เพราะอยากให้คนรู้สึกว่าตอนที่ผมถ่ายรูป ผมรู้สึกอะไร ผมคิดอะไร แล้วผมดีขึ้นได้ยังไงจากการที่ผมนั่งสังเกตท้องฟ้า คือนั่งมองท้องฟ้าเฉยๆ มันได้หยุดคิดอะไรกับตัวเอง รู้สึกว่าชีวิตมันก็เเค่นี้เเหละเดียวมันก็ผ่านไป
ถ่ายมา 5 ปี มีช่วงที่เหมือนไม่อยากถ่ายมันแล้วไหม
มีครับ ช่วงไม่นานมานี้เอง เป็นช่วงที่ follower ขึ้นหลักหมื่นแล้ว ผมรู้ว่าคนที่ตามมีหลายประเภท คนที่เขาเคยเข้ามาคุยที่เป็นซึมเศร้าตามก็มี เเล้วเหมือนช่วงหนึ่งผมดาวน์กับชีวิตมากๆ แคปชั่นมันจะพาตัวเองลงเหวมากๆ แล้วผมก็รู้สึกว่าไม่ได้ละ ผมจะไม่โยนความรู้สึกแบบนี้ไปให้ follower อยากให้แคปชั่นมันยังอยู่ในแบบไม่ทุกข์ ก็สุข อยู่ในระดับที่พอดี ถ้าตอนนี้รู้สึกลงเหวเราก็เบรก แล้วก็ค่อยไปปรับจูนความรู้สึก ความคิดตัวเองของก่อน แล้วค่อยกลับมาหาเพื่อนกลุ่มนี้
แล้วอะไรที่ทำให้เรากลับมาเล่นมันอยู่
ตอนนั้นก็รู้สึกว่า message ที่ผุดเข้ามาในหัวมันพร้อมแล้วที่จะพูดกับใครคนหนึ่ง เพราะว่ามันก็จะมีบางช่วงที่รู้ว่า message ในหัวตอนนี้ไม่ควรจะพูดกับใครเลย ควรเคลียร์ตัวเองให้ได้ แต่ผมลืมไปแล้วนะว่าคืออะไร แต่มันดาร์กมากเลย ส่วนมากเราเริ่มถ่ายภาพๆ หนึ่งจาก massage ก่อน สมมุติว่าชีวิตอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรก็ไม่รู้สึกว่าอยากจะถ่าย แต่ถ้าเกิดว่าไปเจออะไร ตรัสรู้อะไรบางอย่างได้ เจอนั่นเจอนี่แล้วเกิดความคิดขึ้นแบบปุ๊บปั๊บก็เอ่อ จะเล่า จะพูดอันนี้ ด้วยความที่เราเป็นคนที่มองโลกบวกมาตลอด พอมาเจอความจริงที่มันหนักกับเรามากๆ มันก็จะเกิดทัศนคติอีกรูปแบบหนึ่ง เกิดชุดความคิดอีกแบบหนึ่งต่อโลก เกิดความต่อต้านบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าไม่ดีแล้ว ผมต้องเริ่มไปทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้แล้ว
มันคือการ coming of age เนอะ
ใช่ครับ มันจะเป็นหลายช่วงมากเลย คือช่วงปี 1 ปี 2 เราเข้มข้นกับมหา’ลัยมาก จุดหนึ่งเราเริ่มเข้าใจกับธุรกิจของมหา’ลัย เริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างในมหา’ลัยก็เริ่มดาวน์แล้ว ความโหดร้ายของสังคมวัยเรียน วัยทำงาน เห็นเพื่อนๆ ที่แก่งแย่งกันโดยที่ไม่สนใจมิตรภาพ ไม่สนใจอะไรแบบนี้ สังคมทำงานก็อีกแบบหนึ่ง ช่วงนั้นมันหนักมากๆ แต่สุดท้าย message ที่ผมได้กลับมามันคือรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในนิทรรศการด้วย ซึ่งเขียนว่า ‘บางทีโลกจะพาเราไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ของเรา เพื่อทำให้รู้ว่าที่ไหนมันคือที่ของเราจริงๆ’ มันทำให้ผมรู้ว่า เออโลกมันมีมุมนี้อยู่ แล้วผมควรจะไปอยู่ตรงไหนที่เป็นที่ของผมจริงๆ แล้วผมจะมีความสุข ตอนนั้นก็เลยลาออกจากงานแล้วก็ย้ายที่เลย
เคยคิดไหมว่าจะมีนิทรรศการเป็นของตัวเอง
ไม่คิดครับ ก็มีความอยาก แต่ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าคนจะเข้าใจ message เราหรือเปล่า ไม่รู้ว่ามันมี power พอที่จะจัด exhibition ไหม แต่ว่าพี่พฤกธิ์ เจ้าของร้าน 10 ml. ติดต่อมา ก็เลยคิดว่าอยากลองดู แต่ก็ต้องทำการบ้านเยอะมาก ว่าจะเลือกรูปไหน จะจัดเรียงยังไงให้คนเข้าใจเรามากที่สุด
ในนิทรรศการ Sky of Life ผมอยากโชว์ว่า 5 ปีนี้อะไรเกิดขึ้นกับตัวผมบ้าง การที่ผมเริ่มถ่ายท้องฟ้า นั่งมองท้องฟ้าผมรู้สึกอะไร แล้วอะไรทำให้ผมคิดได้แล้วเริ่มจะปลงๆ กับชีวิต อันนี้ไม่ใช่ message ที่ออกไปบอก follower ตรงๆ นะครับ แต่ว่าการเรียงภาพจะมีความหมายของมันอยู่ อย่างการจัดเรียงของฝั่งซ้ายมันคือความที่ชีวิตไม่เเน่นอนน่ะครับ ขึ้นๆ ลงๆ แล้วพอนั่งมองท้องฟ้าคิดได้ ฝั่งขวาคือทุกอย่างจะนิ่งแล้ว คือคนไม่ค่อย get หรอกครับ แต่ผมคิดคนเดียว
แล้วกลัวความคาดหวังไหม ยิ่งเรามาเปิดนิทรรศการ มันเป็นเหมือนการเปิดเผยตัวตนของเราในระดับหนึ่งเลย
จริงๆ เมื่อก่อนคิดว่าการไม่เปิดเผยตัวตนมันค่อนข้างเท่ คือผมเป็นคนที่ concern กับความเท่ประมาณหนึ่ง (หัวเราะ) ผมเห็นว่ามี feedback ที่คนแชร์ๆ กันว่าคนถ่ายต้องอบอุ่นแน่เลย ต้องโรแมนติกมากแน่เลย ซึ่งตัวตนจริงของผมไม่ได้เป็นคนที่โรแมนติกขนาดนั้น ผมเป็นคนที่ค่อนข้าง เรียกว่าไงดี สถุล เถื่อน ปกติคือผมไม่ได้เป็นคนดีมาก แต่สิ่งเหล่านี้คือความโรแมนติกในพาร์ทหนึ่งของชีวิตผม แล้วผมรู้สึกว่าการที่เราบอกไปว่าเราเป็นใคร มันค่อนข้างจริงใจกว่า ถ้าเราจะทรีตเขาว่าผมเป็นเพื่อนคุณ คุณก็เป็นเพื่อนผม เราก็ไม่ควรจะต้องปิดบังอะไรกัน ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดที่ผ่านมามันเฟค เป็นพาร์ทหนึ่งที่เป็นความอ่อนไหว เป็นความโรแมนติกบางอย่างในชีวิต แต่ชีวิตก็ไม่ได้ยืนมองท้องฟ้าทั้งวัน ไม่ได้คิดคำคม ผมก็ใช้ชีวิตแบบคนเถื่อนปกติ เป็นคนบาปคนหนึ่ง
เคยคิดไหมว่าถ้าไม่มี instagram นี่ชีวิตเราจะเปลี่ยนไปไหม
น่าจะเปลี่ยนครับ ผมว่ามันช่วยทำให้รู้สึกว่าเราได้คิดอะไรกับชีวิตมากขึ้น ไม่งั้นเราอาจจะเสเพล ไอ้ตัวนี้มันทำให้ผมได้ดึงตัวเองกลับมา ให้ทำเพลงนะ ให้สร้างงานที่สร้างสรรค์ เพราะว่ามีเพื่อนที่เขารู้สึกดีจากสิ่งที่เราทำ ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตคือการได้ทำอะไรบางอย่างให้คนรู้สึกดี
คิดว่าจะเล่น instagram นี้ไปถึงเมือไหร่
ไม่เคยคิดว่าจะเลิกเลยครับ ชีวิตผมเป็นคนคิดถึงอนาคตน้อยมากเลย ไม่ค่อยถามตัวเองในอนาคตว่าอยากทำอะไร อยากได้อะไร แต่จะถามตัวเองในปัจจุบันว่าผมอยากทำอะไรตอนนี้ เพราะไม่รู้ด้วยว่าวันหนึ่ง instagram อาจเป็นโซเชี่ยลที่คนเลิกให้ความสนใจไป แล้วเราจะทำอะไรต่อ จะเป็นยังไง ก็รอให้ถึงช่วงนั้นไปเอง มันก็คงไม่ใช่แบบ พรึ่บ เลิกเล่น instragram ไปเลย แต่มันอาจจะน้อยลง
เราจะทำไปถ้ายังมีคนตามอยู่
ผมว่าถ้าไม่มีคนตามผมก็คงยังทำอยู่ มันคือการที่เรายังรู้สึกดีกับชีวิต จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่ไม่มีคนรู้เลย ถ้าวันหนึ่งคนตามมันหายไป ผมว่ามันก็ยังจะทำให้ผมมีความสุขอยู่ เพราะทุกวันนี้จะพูดว่าเราทำสิ่งนี้เพื่อคนอื่นเลยก็ไม่ใช่ ถึงแม้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นคือมีคนที่ได้และรู้สึกดีกับมัน แต่สุดท้ายมันกลับมาที่ตัวเราเอง เรายังทำทุกอย่างเพื่อความรู้สึกดีของตนเอง เพราะการที่ทำให้คนอื่นรู้สึกดีสุดท้ายปลายทางมันคือย้อนกลับมาทำให้ผมรู้สึกดีที่ทำให้คนอื่น
‘Sky of life’
Exhibition by บ้านข้างๆ
instagram.com/t_047
at 10ml.
facebook.com/10mlcafegallery
จัดแสดงถึง 18 กรกฎาคมนี้
RECOMMENDED CONTENT
ย้อนรอยสู่จุดกำเนิดแห่งดนตรีเทคโนกับผลงาน Black to Techno โดยผู้กำกับฯ หญิงชาวอังกฤษ - ไนจีเรียน Jenn Nkiru ผู้จะพาเราไปสัมผัสวัฒนธรรมดนตรีเทคโนจากจุดกำเนิดที่เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา จากดนตรีกระแสรองสู่ความนิยมสุดขีดช่วงปลายยุค 1980s นำไปสู่ดนตรีที่สะท้อนต่อสู้เพื่อบทบาทในสังคมและเสรีภาพของกลุ่มคนผิวสีในดีทรอยท์