fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : ดักคุยกับ ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ ก่อนรถไฟเที่ยวใหม่จะมาถึง
date : 2.กันยายน.2016 tag :

Visit Worapoj Panpong dooddot 1

เสียงฉึกฉักสลับเสียงแตรรถไฟดังแทรกบทสนทนาของเราเป็นระยะ ระหว่างนั่งคุยกันในร้านอาหารเรียบทางรถไฟสามเสน

ยอมรับว่าถึงจะเป็นจุดนัดสัมภาษณ์ที่ค่อนข้าง Weird อยู่สักหน่อย แต่การได้รับอีเมล์ตอบรับนัดจากผู้ชายที่ชื่อ ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ ดูเป็นอะไรที่ Weird กว่าหลายเท่า

ไม่บ่อยนักที่เขาจะปรากฏตัวหรือให้สัมภาษณ์อัพเดตชีวิตตัวเองตามสื่อไหน ด้วยหน้าที่การงานทำให้อยู่ไม่เป็นที่ ต้องขึ้นเหนือล่องใต้อยู่ตลอดนั่นข้อแรก กับอีกส่วนหนึ่งคือต่อให้ไม่ไปทำงาน เขาก็เลือกจะเดินทางอยู่ดี เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่เพิ่งลงเครื่องจากฝรั่งเศสและกำลังเตรียมขึ้นรถไฟเที่ยว 6 โมงเย็นไปจังหวัดเชียงใหม่แบบไม่แคร์เรื่องพักเหนื่อย 

“ไปทำงานหรือไปเที่ยว จริงๆ ก็แทบแยกกันไม่ออกแล้ว” คือคำตอบของเขาเมื่อเราถามถึงจุดประสงค์การเดินทางครั้งนี้

ในวงการสื่อมวลชนและวงการน้ำหมึก วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นนักทำข่าว นัก (รับจ้าง) สัมภาษณ์ที่สัมภาษณ์คนมาทุกประเภท เป็นนักเขียน เป็นคอลัมนิสต์ประจำให้นิตยสารหลายฉบับ ก่อนจะเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองชื่อบางลำพู หากจะถือว่าเป็น ‘ครู’ ก็ย่อมได้ ไม่ใช่แค่เพราะตัวหนังสืออันทรงพลัง ไม่ใช่อายุงานกว่า 23 ปี แต่เพราะตลอดเวลา 23 ปีนั้น…เขาไม่เคยหยุดทำงาน

ทุกวันนี้มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกบ้างไหม?

อีกเยอะ แต่ที่ชัดสุดตอนนี้คือบ้านเมืองเราอยู่ใต้รัฐประหาร ทำให้เสรีภาพในการคิดการเขียนมันต่ำกว่าเพดานปกติ เช่น ห้ามแสดงความเห็น ห้ามสัมภาษณ์คนบางคน ผลกระทบโดยตรงเลย เพราะเราทำงานไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ทำได้แค่สะสมศึกษา แต่ยังเผยแพร่ไม่ได้ ทำงานของเราไปตามเหตุผลเงื่อนไขที่มันเป็นอยู่

ก่อนหน้านั้นคนทำสื่ออิสระมีวิธีการทำงานอย่างไร?

ผมตั้งโจทย์ขึ้นมาเองว่าช่วงนี้จะทำเรื่องอะไร ครั้งหนึ่งเคยตั้งใจว่าอยากทำเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมก็ลงไปอยู่จังหวัดปัตตานี เพราะไม่อยากฟังความจริงด้านเดียว โจทย์ของอาชีพนักข่าวเปลี่ยนตลอดเวลา บางเรื่องไม่มีความรู้ วิธีการที่ดีคือคบเพื่อนหลากหลาย และไปคลุกคลีอยู่กับแหล่งข่าวเอง ผมไม่อยากเป็นสื่อที่แค่รายงานข่าว แต่อยากเป็นคนเขียนหนังสือด้วย อย่างครั้งที่ทำเรื่องช่างภาพสัตว์ป่าก็ไม่อยากไปนั่งคุยกับเขาที่บ้านหรือร้านกาแฟ เลยไปกินนอนอยู่กับเขาด้วย เพราะหลายอย่างเราสามารถไปเห็นเองได้ ไม่ใช่แค่จากเรื่องเล่า การทำอาชีพสื่อแบบนั่งอยู่เฉยๆ มันไม่สนุกสำหรับผม การเป็นสื่ออิสระมีข้อดีคือไม่ถูกบังคับว่าต้องกลับออฟฟิศเมื่อไร ต้องส่งงานวันไหน เราจัดการชีวิตตัวเอง

Visit Worapoj Panpong dooddot 2

Visit Worapoj Panpong dooddot 3

ฐานข้อมูลหรือความสนใจส่วนใหญ่มากจากไหน?

ตอนผมเริ่มทำสื่อ ที่ออฟฟิศจะมีห้องสมุดเอาไว้เก็บข้อมูลเรื่องต่างๆ แยกแฟ้มเป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องธรรมชาติ เรื่องธุรกิจ สมมติอยากรู้ประวัติบริษัทไหนก็จะมีข้อมูลนั้นอยู่ในแฟ้ม ถ้าไม่มีไม่ก็ไปหอสมุดแห่งชาติหรือห้องสมุดของหนังสือพิมพ์หัวอื่น กับอีกส่วนคือเวลาอ่านเรื่องไหนจากหนังสือพิมพ์หรือแม้กกาซีนแล้วชอบ ผมจะตัดเก็บไว้เอง เวลาต้องหาข้อมูลก็จะนึกออกว่าเก็บไว้ตรงไหน

การเข้ามาของสื่อออนไลน์ทำให้การทำงานของคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

ที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดน่าจะเป็นการเข้าห้องสมุด การค้นหาข้อมูล แต่วิธีคิด ความสนใจที่จะลงไปดูไปเห็นยังเหมือนเดิม อินเตอร์เน็ตเป็นแค่ส่วนเสริม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มาเปลี่ยนโลกการทำงาน ยังสะสมหนังสือที่ชอบเหมือนเดิม นี่ผมก็เพิ่งมีเฟซบุ๊กกับเขาเมื่อปีที่แล้ว เพราะต้องพิมพ์หนังสือให้เพื่อน จึงต้องพีอาร์ให้เขา แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ขนาดนั้น เวลามีคนถามในเพจสำนักพิมพ์บางลำพูว่าจะซื้อหนังสือบางเล่มได้ที่ไหน ผมก็บอกให้เขาไปที่ร้าน เราไม่ได้ปฏิเสธระบบขายออนไลน์ แต่ตอนนี้มีคนทำอยู่แล้ว ผมว่าตรงไหนที่ระบบมันเคลื่อนไปได้ก็ปล่อยให้คนที่เขาทำสิ่งนั้นได้ดีทำต่อไป

พื้นที่สื่อที่ง่ายขึ้น ส่งผลต่อคนทำงานเขียน รวมถึงคนเสพมากน้อยแค่ไหน?

จริงอยู่โซเชียลฯ มีผลต่อการอ่านของคน คนอ่านน้อยลง ทำให้งานเขียนบางประเภทต้องเปลี่ยนตามไปด้วย แต่งานเขียนอีกประเภทก็ยังคงต้องมีอยู่ การเผยแพร่และสื่อเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ตัวเนื้อหาสาระ ผมมองว่าโซเชียลฯ มันทำให้ทุกคนมีอำนาจในมือ นั่งอยู่บ้านก็สื่อสารกับโลกได้ แต่คุณจะสื่ออะไร นั่นคือแกนหลัก ทุกวันนี้มีพื้นที่มากขึ้น โอกาสมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าสื่อง่ายขึ้นแล้วคุณจะทำงานได้ดี สุดท้ายมันอยู่ที่คุณภาพ ใครแข็งแรงเอาจริงเอาจัง เขาจะอยู่ยั่งยืนไปเอง ใครอยากเขียนคำคมเท่ๆ เก๋ๆ ในเฟซบุ๊กก็แล้วแต่เขา

มองสถานการณ์หนังสือบ้านเราในเวลานี้อย่างไร?

แล้วแต่ว่าจะพูดถึงกลุ่มไหน หนังสือ Best Seller หนักๆ ก็ยังมีอยู่ หนังสือประวัติดารายังขายได้เป็นหมื่นเป็นแสนเล่ม หนังสือบางประเภทตายไป บางอย่างยังอยู่ ในจุดที่ผมอยู่ก็เหมือนเดิม เรียกว่าเป็นหนังสือทางเลือก ไม่ได้มีคนอ่านกลุ่มใหญ่อะไรอยู่แล้ว เป็นความสนใจและรสนิยมเฉพาะ มันคงขึ้นอยู่กับว่าเรื่องอะไร ใครอยู่ตรงไหน บวกเรื่องภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดีเข้าไปด้วย การใช้เงินชะลอ มีผลโดยตรงแน่ๆ ต่อหนังสือบางประเภท แต่สำหรับบางกลุ่มที่เขามีแฟนเหนียวแน่นก็ยังอยู่ได้

อะไรเป็นตัววัดคุณค่าของงานเขียน 1 ชิ้น?

การมีพ็อกเก็ตบุ๊ก 1 เล่มเป็นคนละเรื่องกับคุณค่าของงาน มันไม่ได้สะท้อนอะไร ไม่ใช่คำตอบว่าดี เก่ง เติบโต เหมือนคำว่าเตะบอล จะเตะแถวนี้ เตะสนามราชมังคลาฯ หรือจะเตะบอโลกก็ได้ มันเตะได้ทุกที่ แต่ตัวคุณย่อมรู้ดีว่ากำลังเตะอยู่สลัมข้างทางรถไฟหรือไปเตะในอังกฤษ เอาขาไปแตะลูกเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ความเหนือชั้น ความเข้มข้นต่างกัน

สำหรับนักเขียนสายจริงจังเข้มข้นก็ยังไม่ได้ทำงานง่ายขึ้น ยังต้องทำงานหนักเพื่อสะสมวิธีการเขียน ตัวตน สะสมประสบการณ์มาทั้งชีวิต ที่สุดแล้วคนจะเห็นและแยกแยะได้เอง อะไรที่ไม่แข็งแรงพอ วันหนึ่งธรรมชาติจะกวาดไปเองตามวิถีของมัน ต่อให้แม้กกาซีนตาย หนังสือพิมพ์ตาย กระดาษตาย นักเขียนก็ยังอยู่ เราแค่ย้ายพื้นที่ ผมเชื่อว่าพอเราทำงานจริงจัง มันไม่มีใครปล่อยให้อดตายหรอก

Visit Worapoj Panpong dooddot 4

ทุกวันนี้ไฟในการทำงานของคุณลดลงบ้างไหม?

ไม่เลย ยิ่งทำยิ่งชอบ ไม่เคยเบื่ออาชีพนี้ มันมีอะไรให้ทำให้รู้ไม่จบสิ้น ผมมักจะพูดว่า ‘ไม่มีใครเอาปืนมาจ่อหัวให้คุณมาทำงานนี้’ รู้ตั้งแต่ก่อนทำอาชีพเขียนหนังสือแล้วว่าเงินน้อย แต่ชอบทำ อยากทำ ถ้าเป็นคนรุ่นเดียวกัน อาชีพอื่นคงมีเงินมากกว่านี้ อาชีพอื่นได้ร้อยบาท อาชีพนักเขียนได้สิบบาท หน้าที่เราคือบริหารเงินสิบบาทนั้นให้ได้ และไม่เป็นหนี้

คนชอบพูดเรื่องแรงบันดาลใจ เราได้ยินกันบ่อยมากโดยเฉพาะวงการสื่อสาร สำหรับผม เข้าใจว่าแรงบันดาลใจสำคัญ แต่คนให้ค่ามันเกินไป ถูกตีฟูเสียจนเวอร์  ผมไม่ให้ค่าคำนี้มากนัก ที่เลือกทำอาชีพนี้เพราะคุณรักมันไม่ใช่หรือ อย่างน้อยที่สุดคือได้ทำงานที่อยากทำ ชีวิตที่อยากเป็น ชีวิตที่ได้ออกแบบเอง แล้วทำไมจะต้องมีคำอื่นอีกล่ะ

*** วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขียนคอลัมน์ ‘ถนนสายหนึ่ง’ ประจำในนิตยสาร GM และกำลังจะเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ Mad About นิตยสารเล่มใหม่ที่จะเปิดประเดิมฉบับปฐมฤกษ์เดือนตุลาคมนี้

Writer: Wednesday

RECOMMENDED CONTENT

17.สิงหาคม.2017

หลังจากคว้ารางวัลกรังปรีซ์ สาขาเพลงประกอบโฆษณายอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน 2017 อาดิดาส ออริจินอลส์ยังคงพัฒนาผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง