อย่าดื่มไวน์แบบ “สน็อบ“
….”ผมไม่กินไวน์ออสเตรเลีย เพราะเป็นไวน์เบลนด์…..!!”
ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อว่าเป็นคำพูดของ ผู้บริหารระดับใหญ่คนหนึ่ง ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มีกิจการนานาชนิด..
…”เบลนด์ ยังไงครับ !!”….ผมถาม
…”เบลนด์ด้วยเคมี…!!!!” ..
…”เคมี…เคมี เคมีอะไรครับ...!!!…?”…ผมย้ำอยู่หลายครั้ง เพราะบริษัทที่ท่านเป็นผู้บริหารก็ขายเคมีด้วย หรือจะขายเคมีให้กับบริษัทไวน์ถึงได้รู้…!!!
ถึงตอนนี้ท่านตอบแบบอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ และถ้าจะไล่ให้จนตรอกก็สามารถทำได้ แต่ผมไม่ทำ เพราะยังให้เกียรติท่านในฐานะที่รู้จักกันมากว่า 20 ปี ได้แต่คิดในใจ….
“เพราะมีผู้บริหารแบบนี้ ครั้งหนึ่งบริษัทที่ท่านทำงานเคยนำไวน์ถึงได้เจ๊ง ตอนนั้นท่านก็เข้าทำงานที่บริษัทนี้แล้ว ขณะที่ธุรกิจอย่างอื่นเติบโตวินาทีแล้ว วินาทีเล่า จนแทบจะเป็นเจ้าของประเทศไทย….”
ในฐานะที่เคยทำไวน์จริง ๆ มาแล้วจึงอธิบายให้ท่านฟังว่า การ “เบลนด์” (Blend) ที่ท่านคิดฝังหัวนั้นในภาษาไวน์หมายถึง “การนำองุ่นหลาย ๆ พันธุ์มาเบลนด์กัน เพื่อเอาคุณสมบัติขององุ่นแต่ละสายพันธุ์มาส่งเสริมกันและกัน” ไม่ใช่เกิดจากการเติมสารเคมีลงไป…!!!
การไปพูดว่าไวน์ยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ เบลนด์หรือใส่สารเคมี เกิดรู้ถึงหูผู้ผลิตไวน์นั้น ๆ มีโอกาสถูกฟ้องได้..
เรื่อง “เคมี” นี้นอกจากท่านแล้ว เชื่อหรือไม่ว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนคิดเหมือนกัน ที่สำคัญคนพวกนี้เป็นระดับผู้บริหาร เจ้าของกิจการ ฯลฯ เงินทองรวยล้นฟ้า กินชาตินี้และชาติหน้าก็ไม่หมด
ถามว่าคนพวกนี้ดื่มไวน์อะไร ? ส่วนใหญ่เป็นไวน์ฝรั่งเศส
ถามอีกครั้งว่าทำไมต้องเป็นไวน์ฝรั่งเศส ? เพราะไวน์ฝรั่งเศสไม่เบลนด์ !!!
แสดงว่าความหมายของคำว่า “เบลนด์” ของคนกลุ่มนี้คือ…การใส่สารเคมี
จริง ๆ แล้วฝรั่งเศสนั่นแหละคือ “ยอดฝีมือแห่งการเบลนด์” ด้วยการนำองุ่นหลายพันธุ์มาเบลนด์กัน บางพื้นที่ใช้มากถึง 12-13 สายพันธุ์ การเบลนด์นี้ทำให้ได้ไวน์เอร็ดอร่อยจนอีกหลาย ๆ ชาตินำกรรมวิธีนี้ไปใช้ ที่ดัง ๆ และถูกนำไปใช้ในหลายประเทศคือ “บอร์กโดซ์ เบลนด์” (Bordeaux Blend)
การเบลนด์นี้หลายคนเอาไปใช้ผิด ๆ โดยเรียกทุกอย่างว่า “บอร์กโดซ์ เบลนด์” จริง ๆ บอร์กโดซ์ เบลนด์ ต้องใช้องุ่นที่ปลูกในบอร์กโดซ์เท่านั้น หลัก ๆ ก็คือกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) กาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) แมร์โลต์ (Merlot) เปติต์ แวร์กโดต์ (Petite Verdot) เป็นต้น ถ้านำซีฮราหรือซิราซ (Syrah/Shiraz) มาเบลนด์ไม่เรียกว่าบอร์กโดซ์ เบลนด์ เพราะเป็นองุ่นแคว้นโฮรน (Rhone) เป็นต้น
มีบางคนบอกว่า…เป็นผู้บริหารต้องโง่ เป็นคนรวยต้องโง่ !! ผมบอกว่าคงไม่ใช่ เพราะถ้าโง่คงไม่เป็นผู้บริหาร หรือร่ำรวย แต่เป็นเพราะการไม่เปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และการไม่ศึกษาหาข้อมูลกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ผ่านมาเคยคิดอย่างไร เชื่ออย่างไรก็ย่ำอยู่อย่างนั้น ในภาษาการดื่มไวน์เรียกว่า “สน็อบ” (Snob) คือรู้อย่างเดียวว่าได้ดื่มของแพง แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดื่มลงไปในกระเพาะนั้นคืออะไร ?
ผมเคยนั่งร่วมโต๊ะไวน์ดินเนอร์กับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่จัดงานแสดงรถยนต์รายการใหญ่ ดื่มได้สักพักอาการคุยเสียงดังเสมือนข่มเพื่อนร่วมโต๊ะก็ออกมาเป็นชุด ๆ ว่า เคยดื่มไวน์ขวดละเป็นแสน ชาโตโน่น ชาโตนี่ คงจะเห็นว่าเพื่อนร่วมโต๊ะละอ่อนกว่าคงไม่เคยดื่ม ผมถามว่า…”ชาโตราคาเป็นแสนที่ท่านดื่มรสชาติเป็นอย่างไร ?” ท่านตอบได้ 2-3 คำ…”หอม หวาน นุ่ม” …แค่นั้นจริง ๆ ผมเลยบอกว่า…ครับท่านอันนั้นเรียกว่าแค่ “ได้ดื่ม” ของแพงเท่านั้น แต่ไม่ได้ดื่มไวน์จริง ๆ …คนพวกนี้มีเยอะครับ เชื่อว่าท่านที่เคยไปงานแบบนี้ต้องเจอ !!
กลับมาเรื่อง “เคมี” อีกครั้ง ถ้าเป็นไวน์จริง ๆ ไม่สามารถใส่สารเคมีใด ๆ ลงไปในไวน์ได้ รวมทั้งกลิ่นผลไม้นานาชนิด และกลิ่นอื่น ๆ ที่อยู่ในไวน์และผู้เชี่ยวชาญดมได้ว่ามีกลิ่นโน้นกลิ่นนี้
มีอย่างเดียวเท่านั้นที่สามารถใส่ลงไปในขวดไวน์ได้นั่นคือ “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์” (Sulfur Dioxide / Sulphur Dioxide) จัดเป็นก๊าซพิษ แต่มีประโยชน์สำหรับภาคอุตสาหกรรม และการเกษตรเพื่อฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถูกนำมาใช้ในแวดวงไวน์เพื่อฆ่าจุลินทรีย์บางตัวที่ทำให้ไวน์เสียเร็ว จริง ๆ แล้วซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดตั้งแต่กระบวนการหมักไวน์ ไวน์โลกเก่าที่ไม่เคยใช้ก็ต้องใช้ เพราะมีจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนด และต้องระบุไว้ในฉลากข้างขวดว่า “Contains Sulphur Dioxide” หรือ “Contains Sulfites” ประมาณนี้ ท่านที่มีไวน์อยู่ในมือตอนนี้ลองดูที่ฉลากก็ได้ ที่สำคัญต้องเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้เท่านั้น
ในเมืองไทยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท (Hermectically Sealed Container) ได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น
โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา “ผู้บริหาร” เป็นกลุ่มที่ต้องตามการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทันมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องไวน์ อย่าดื่มไวน์แบบ “สน็อบ” เพราะอย่างน้อยคนรุ่นใหม่รอบ ๆ ตัวท่านบางคนอาจจะมีความรู้มากกว่า ท่านกล้ายอมรับสิ่งที่พวกเขาแสดงความเห็นหรือไม่ ?
—————
Writer : Thawatchai Tappitak
RECOMMENDED CONTENT
RANSOMED เล่าถึงผู้ชายสองคนมีสถานะและปูมหลังที่แตกต่างกัน นักการทูต มินจุน (นำแสดง ฮา จอง-อู (Ashfall, Along with the Gods) เป็นนักการทูตที่สูงส่งและประสบความสำเร็จ ขณะที่พันซู (นำแสดง จู จี-ฮุน (Along with the Gods) เป็นคนท่าทางลึกลับ ดูไม่น่าไว้วางใจ การพบกันของ นักการทูตชั้นสูงและโชเฟอร์ที่แฝงลับลมคมใน