เรารู้จักงานเซรามิกที่ Trampoline Studio ทำมาไม่ต่ำกว่าปี แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าใกล้มากไปกว่าแค่แอบมองความเคลื่อนไหวในอินสตาแกรมอยู่ห่างๆ จนกระทั่งมีเวลาว่างพอที่จะลากตัวเองไปลงเรียนปั้นสักคอร์สแบบคนไม่รู้อะไรเลย
‘ไม่เป็นไรค่ะ แค่มาลองทำดูก็พอ’ เจ้าของ Trampoline บอกเราและมันทำให้เราตัดสินใจไป ‘ลองดู’ อย่างว่าง่าย
หลังจากทำงานด้านอินทีเรียร์ดีไซน์ในบริษัทสถาปัตย์ตั้งแต่เรียนจบ อีฟ-สุกาญจนา กาญจนบัตร ค้นพบว่าตัวเองชอบทำงานด้วยมือ ตอนที่รู้ตัวว่าชอบเซรามิก เธอลาออกจากงานประจำแบบไม่มีงานแห่งใหม่ในหัว จนได้มีโอกาสบินไปทำงานกับศิลปินชาวญี่ปุ่น พอกลับมา เธอเปิดสตูดิโอขนาดย่อมของตัวเองชื่อ Trampoline จากนั้นก็คลุกคลีอยู่กับดินจนถึงวันนี้
พอดีกับที่ Ink & Lion Cafe ร้านกาแฟคุณภาพดีย่านเอกมัย ก็แอบมองเธออยู่นะจ๊ะมาสักพักเหมือนกัน จึงเปิดบ้านในฐานะเจ้าถิ่น ชวน Trampoline Studio มาทำงานร่วมกันกับโปรเจ็กต์ ‘With My Hands’ โดย Trampoline จะปั้นจานรองแก้วให้ Ink & Lion แล้ว Ink & Lion ก็จะเสิร์ฟกาแฟบนจานของ Trampoline แล้ว Trampoline ก็…พอ! เขียนเองยังงงเอง
เอาเป็นว่าทั้งหมดทั้งมวล พวกเขาแค่อยากให้สิ่งที่เรียกว่าเซรามิกเป็นมากกว่าเครื่องใช้ในครัวเรือน แต่กระเทิบเข้ามาอีกนิด ประชิดเข้ามาอีกหน่อย ให้มันเป็นงานศิลปะที่เสพได้ในวิถีประจำวันของเรามากกว่าเดิม
แต่ชีวิตก็ใช่ว่าจะง่ายขนาดนั้น บางทีอะไรหลายๆ อย่างก็มีเงื่อนไขที่เลี่ยงไม่ได้ นั่นคือการเข้าใจธรรมชาติ ธรรมชาติคือดิน และดินก็ฝึกให้เรา ‘รอ’ … อย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างน้อยนี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่เซรามิกสอนสุกาญจนารวมทั้งเรา…
A Hundred Days of Making
“โปรเจ็กต์นี้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เป็นการใช้ Porcelain (ดินสี) กับเทคนิค Slab แล้วนำไปเผาที่อุณหภูมิ 1,200 เราไม่ได้เป็นคนมีเทคนิคเยอะมาก ใช้แค่สิ่งที่ถนัด นั่นก็คือเล่นกับดินสีและเท็กซ์เจอร์ของการเคลือบ ซึ่ง Ink & Lion เขาก็ปล่อยให้เราคิดเต็มที่
ดีอย่างตรงที่เขาเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่มีที่แสดงงานอยู่แล้วโดยไม่คิดค่าเช่าที่ ถ้างานขายได้ระหว่างโชว์ รายได้ทั้งหมดก็เป็นของศิลปินไปเลย เว้นแต่ว่าถ้างานจบแล้ว และอยากวางโปรดักซ์ภายในร้านต่อก็ค่อยตกลงกันอีกที เขาเห็นว่าเราเป็นสตูดิโอที่ค่อนข้างใหม่ เลยอยากสนับสนุน มันเริ่มจากเขาชอบงานเรา แล้วเราก็ชอบที่นี่ แค่นั้นเอง”
“เวลาคนถามว่าเรียนอะไรมา พอบอกว่าเรียนเซรามิก มักจะเจอคำถามต่อว่า ‘ทำอะไร ทำชามหรอ’ ‘ชามแบบลำปางหรือเปล่า’ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกถ้าเขาจะเข้าใจแบบนั้น เพราะความเข้าใจเรื่องเซรามิกจริงๆ ในเมืองไทยยังน้อยมาก อาจจะแค่ในงานผลิตแบบอุตสาหกรรมไปเลย แต่ถ้าเป็นงานศิลปะจริงๆ ยังไม่ค่อยมี
ตอนไปเป็นผู้ช่วยศิลปินเซรามิกที่ญี่ปุ่น พบว่าคนที่นั่นเขารู้จักเซรามิกต่างจากเรา แล้วมีมาสเตอร์ด้านนี้เยอะมาก เพราะอยู่ในสายเลือดของเขามาตั้งแต่ต้น เหมือนอาชีพทำดาบซามูไร ทำชุดยูกาตะ อะไรแบบนั้น เซรามิกสามารถเป็นอาชีพ เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ แล้วถ้วยชากับจานชามก็เป็นสิ่งที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันกันจริงๆ”
Forming
“พอกลับมาเมืองไทย เราทำงานของตัวเองไปเรื่อยๆ ประมาณ 4-5 ปี จนมีคนขอมาเรียนกับเรา มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของคลาสเวิร์กช็อป บางคนก็เรียกเราไปทำของชำร่วยให้ บางคนกลับมาเรียนอีก หรือบางคนกลายมาเป็นเพื่อนกัน ถือว่าเป็นเรื่องดีนะถ้าคนเข้ามาแล้วแฮปปี้กับเซรามิก แฮปปี้กับเรา ซึ่งตรงกับความตั้งใจแรกของการตั้งสตูดิโอ Trampoline เพราะเราไม่ได้อยากระบุคาร์แร็กเตอร์ของมันว่าควรจะเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร แค่อยากสร้างพื้นที่ขึ้นมาสักที่หนึ่ง เอาไว้แชร์กับศิลปินหรือใครก็ได้ที่ทำงานเซรามิกเหมือนกันแต่ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีเตา เพราะเราเองเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เข้าใจดีเลยว่าเวลาคนที่อยากทำจริงๆ แต่ไม่มีที่ให้ทำ มันเป็นยังไง
ถ้าถามว่าคาร์แร็กเตอร์ของ Trampoline เป็นยังไง คงตอบไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ต้องเป็น ‘ตัวเรา’ ขนาดนั้น เราอยากเป็นแค่สมาชิกคนหนึ่ง ยังอยากให้มีคนเข้ามาทำงานด้วยกัน มาสนุกกัน จะมีกันคนละโปรเจ็กต์แล้วมาใช้พื้นที่ร่วมกัน หรือจะมาคิดมาทำร่วมกันก็ได้ แต่การจะให้คนที่เข้ามาเขาคลิกกับการทำงานสไตล์เราจริงๆ อาจต้องใช้เวลาจูนเข้ากันหน่อย เพราะเราก็ทำงานคนเดียวมาตลอด”
“เซรามิกเป็นอะไรที่เฉพาะกลุ่มมากๆ คงจะดีกว่าถ้ามีตลาดที่ขายแต่งานเซรามิกเลย มีทั้งงานอาร์ตและ Pottery คนที่เข้ามาก็จะได้ตั้งใจแล้วว่าฉันต้องได้ซรามิกกลับไปแน่ๆ เพราะคนที่ชอบเซรามิกจริงๆ ก็อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ตอนนี้เหมือนวงการเซรามิกบ้านเรามีคน 2 รุ่นที่ชัดเจนมากๆ คือคนรุ่นก่อนที่มีฝีมือกับสตูดิโอรุ่นใหม่ๆ เก่งๆ มีการทดลองเทคนิคอะไรใหม่ๆ คงจะดีมากถ้าเกิดว่าคน 2 กลุ่มมาแชร์ความรู้ เเชร์เทคนิคกัน เซรามิกบ้านเราน่าจะไปได้อีกไกล
แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าเป็น Pottery หรืองานอาร์ต เราอยากให้เซรามิกเป็นอะไรก็ได้ เพราะทุกอย่างเกิดมาจากการทดลอง คือเราค่อยๆ ทำไป อันไหนเวิร์กก็ขาย ไม่เวิร์กก็ลองเทคนิคอื่น ซึ่งการทำงานแบบนี้ถ้ามองในแง่ธุรกิจ มันไม่ได้กำไรอะไรอยู่แล้ว”
Heart-build-ing
“ทำงานนี้ขึ้นมาเพราะเราอยากให้คนมองภาพเซรามิกนอกเหนือจากที่เคยรู้จัก เราอาจจะแค่ทำจานรองแก้ว เอากระเบื้องอะไรมาเพ้นต์ก็ได้ แต่เราไม่ได้อยากทำอย่างนั้น งานเราอาจจะขายได้ยากกว่า แต่ออกมาแล้วมีคุณค่าจริงๆ เราทำเพราะแค่อยากทำ ไม่ได้คิดว่าจะทำเงินได้ยังไง บางทีก็แบบ บัญชีทำไง ขายยังไง แต่เราก็งมของเราไปเรื่อยๆ Trampoline แค่วางร้านเล็กๆ วางในแกลเลอรี่ ก็อาจจะเป็นจุด Comfort แล้วสำหรับเรา ไม่อยากกดดันว่าต้องผลิตออกไปมากๆ โดยที่งานก็ไม่ได้ดี แล้วเราก็ไม่ได้ภูมิใจ เพราะพอเป็นแบบนั้นเราจะไม่ได้คิดอะไรใหม่อีกแล้ว ซึ่งที่ว่ามานี่ก็เป็นความคิดที่ขัดแย้งกับการทำมาหากินอีกนั่นแหละ (หัวเราะ)
เป้าหมายตอนนี้กับ Ink & Lion คืออยากให้คนที่เข้ามาดื่มกาแฟแล้วรู้สึกเอ็นจอยกับงานอาร์ตตรงหน้า คุณอาจไม่รู้เลยว่าแบบนี้ก็เป็นงานอาร์ตด้วยเหรอ ใช่ บางทีศิลปะมันไม่ได้ยากอะไร แค่กินกาแฟแล้วได้เห็น ได้จับ ปากได้สัมผัสกับถ้วยชามเซรามิกแค่นั้นก็เป็นศิลปะแล้ว”
แวะจิบกาแฟและชมนิทรรศการ ‘With My Hands’ by Sukanjana Kanjanabat
ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2561
ถ้าไปดูไม่ทัน ไม่ต้องโซแซด! เพราะจานรองแก้วที่โชว์อยู่บนผนังทั้งหมดจะ
ยังคงใช้เสิร์ฟเครื่องดื่มที่ร้านต่อไปหลังจบเอ็กซ์ซิบิชั่นแล้วด้วยจ้า!
Ink & Lion
เอกมัยซอย 2 สุขุมวิท 63 กรุงเทพฯ (BTS เอกมัย)
เปิดทุกวัน : เวลา 9.00-18.00 น.
โทร. 02-002-6874
https://www.facebook.com/inkandlioncafe/
Trampoline Studio
RECOMMENDED CONTENT
บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ร่วมกับ บริษัท บีฮีมอธ แคปปิตอล จำกัด, บริษัท นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด พร้อมส่งภาพยนตร์เรื่องราวเเห่งแรงบันดาลใจที่สร้างจากเรื่องจริงของโปรกอล์ฟ