หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้าที่โลกจะก้าวเข้าสู่ปี 2000 ตอนนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกศตวรรษหนึ่ง ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนอยู่ไม่น้อยว่ามันจะนำมวลมนุษยชาติไปสู่อะไร
แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากการเปลี่ยนผ่านนั้น โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ตั้งแต่คำทำนายถึงภัยธรรมชาติร้ายแรงที่นำมาสู่การสร้างหนังวันสิ้นโลกต่างๆ จนถึงเหตุวินาศกรรม 9/11 ชนวนที่ทำให้เกิดสงครามที่กินเวลาหลายปีในอิรัก ยิ่งตอกย้ำผู้คนให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคงและไม่แน่นอนมากขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านั้นในยุค 90s เป็นช่วงเวลาที่ความรู้สึกไม่มั่นคงในอนาคตเริ่มก่อตัวขึ้น ผ่านหนังหลายเรื่องที่พูดถึงภัยของมนุษยชาติอย่าง Dante’s Peak ปี 1997 และ Deep Impact ปี 1998 หรือพูดถึงโลกหลังความตายอย่าง Meet Joe Black และ City of Angles ที่ฉายในปีเดียวกัน 1998
ดูเหมือนว่า ‘หญิงสาวกับเมืองอันตราย’ จะกลายมาเป็นวัตถุดิบหนึ่งที่บรรดาหนังในช่วง 80s – 90s มักจะหยิบยกมาเล่า ผ่านตัวละครหญิงสาวที่แม้จะประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน ใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเม้นต์หรูกลางมหาครนิวยอร์ก แต่ก็ยังไม่สามารถหลบพ้นเงื้อมมือของความเปลี่ยวเหงาและภัยอันตรายจากผู้คนในสังคมเมืองนั้นๆ ได้เลยแม้แต่นิด แสดงให้เห็นถึงสภาวะความเจริญทางวัตถุของชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกา แต่ผู้คนกลับไม่มั่นคงทางจิตใจ ซึ่งมันถูกซ่อนอยู่ใน ‘หนังระทึกขวัญ’ อันเป็นตำนานเหล่านี้อีกด้วย
Ghost (Jerry Zucker, 1990)
Ghost หนังดังเเป็นพลุแตกในปี 1990 ที่แสดงโดยดาราดาวรุ่งยุคนั้นอย่าง Demi Moore และ Patrick Swayze อาจดูว่าเป็นหนังโรแมนติก ปนตลก – ระทึกขวัญ แต่มันเป็นหนังเรื่องแรกในปี 90s ที่เริ่มตั้งคำถามจริงจังถึงโลกหลังความตายของคนธรรมดาๆ เดินดินอย่างเรา และเล่นกับความไม่แน่นอนได้อย่างเจ็บปวด ผ่านตัวละครหญิงสาวที่ชีวิตกำลังจะลงตัว คนรักหน้าตาหล่อเหลา อาชีพการงานดี และกำลังจะลงหลักปักฐานด้วยกันที่อพาร์ตเม้นต์ในย่านหรู แต่กลับต้องสูญเสียว่าที่สามีไปแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้เธอต้องยู่กับความเจ็บปวดหลังจากนั้นเพียงลำพังในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ความเปล่าเปลี่ยวของเมืองใหญ่ได้นำพาทั้งคนดี คนร้าย และคนอันตรายมาสู่ชีวิตเธอตั้งแต่นั้น
Single White Female (Barbet Schroeder, 1992)
หลังจากความสำเร็จของ Ghost ในอีก 2 ปีต่อมา ก็มีหนังที่เดินดำเนินพล็อตที่ว่าด้วยการดิ้นรนเอาตัวรอดของตัวละครหญิงในเมืองใหญ่ตามมาติดๆ Single White Female เรื่องราวของดีไซเนอร์สาวคนเก๋ มีฐานะ มีเซ้นส์เรื่องแฟชั่น ชีวิตของเธอดูเพอร์เฟ็กต์ดี จนกระทั่งวันหนึ่งจับได้ว่าคู่หมั้นหนุ่มกลับไปหาถ่านไฟเก่า ทำให้ต้องแยกย้ายกัน แต่ด้วยราคาค่าเช่าห้องชุดในนิวยอร์กที่ค่อนข้างสูง เธอจึงประกาศหารูมเมดมาช่วยแบ่งเบา โดยที่ต้องมีคุณสมบัติ ‘หญิงสาว คนขาว โสด’ แต่กลับไม่รู้เลยว่าคุณสมบัติธรรมดาๆ นั้นจะนำแขกไม่ได้รับเชิญที่อันตรายที่สุดมาด้วย ความน่าสนใจของ Single White Female คือมันเป็นหนังแนวจิตวิทยาที่นอกจากชะตากรรมเลวร้ายของผู้ถูกกระทำ ทั้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งความรุนแรงต่างๆ แล้ว ยังเผยให้เห็นสภาพจิตใจอันบิดเบี้ยวของมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุของการกระทำเรื่องเลวร้ายต่างๆ เหล่านั้นด้วย
Silver (Phillip Noyce, 1993)
ส่วนผสมหลักอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในบรรดาหนังระทึกขวัญยุค 90s ก็คือ ‘เซ็กส์’ ทำให้หนังแนวอีโรติก – ทริลเลอร์ เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงเวลานั้น และ Silver ก็คือหนึ่งในหนังสุดเร่าร้อนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง สร้างจากหนังสือของ Ira Levin ผู้เขียนวรรณกรรมคลาสิกอย่าง Rosemary’s Baby ว่าด้วยบรรณาธิการนิตยสารสาวโสด ที่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเม้นต์หรูอย่างง่ายดาย โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าการเข้ามาที่อพาร์ตเม้นต์ชื่อ ‘Silver’ แห่งนี้ของเธอไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่กำลังถูกจับตามองทุกฝีก้าวจากเงาร้ายใกล้ตัว หากตัดเรื่องอีโรติกและความลุ้นระทึกออกไป Silver คือหนังอีกเรื่องที่เล่าแง่มุมความไม่มั่นคงของหญิงสาววัยกลางคนในเมืองใหญ่ได้เป็นอย่างดี
Sleeping with the Enemy (Joseph Ruben, 1991)
ความน่าตื่นเต้นของยุค 90s นอกจากบรรดาหนังอีโรติก – ทริลเลอร์เดือดๆ แล้ว คือการได้เห็นเจ้าแม่หนังรัก Julia Roberts กระโดดมาเล่นหนังหนังดราม่าระทึกขวัญกับเขานี่แหละ Sleeping with the Enemy สร้างจากนิยายระทึกของ Nancy Price ในปี 1987 เล่าเรื่องหญิงสาวผู้หนีชีวิตเพียบพร้อมของการเป็นภรรยาเศรษฐีมาอยู่เมืองเล็กๆ โดยทิ้งอดีตอันเจ็บปวดไว้เบื้องหลัง จนกระทั่งได้เจอกับชายหนุ่มนิสัยดีที่เริ่มจะตกหลุมรักกันอีกครั้ง แต่อดีตอันน่ากลัวที่เธอทิ้งไว้กลับตามมาหลอกหลอน ในรูปแบบของอดีตสามีโรคจิตผู้พร้อมจะกลับมาย่ำยีเธอทุกรูปแบบ แม้ว่าฉากหลังของ Sleeping with the enemy จะเกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ ตัวละครหญิงสาวก็ยังคงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้เสมอ
Fatal Attraction (Adrian Lyne, 1987)
พิษภัยของความเหงาในเมืองใหญ่ ไม่เพียงกัดกินหญิงสาวเท่านั้น Michael Douglas รับบทพ่อบ้านที่มีครอบครัวอบอุ่นดี แต่ก็ยังเผลอปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสาวโสดสุดเย้ายวนที่เจอเพิ่งกันเเว้บเดียว แม้เขาจะรู้สึกผิดและรีบถอนตัว แต่ความสัมพันธ์นี้ก็ถลำลึกเกินไปซะแล้ว Fatal Attraction ได้นำเสนอมุมมองที่ไม่ว่าใครก็ตกเป็นเหยื่อความเปลี่ยวเหงาได้ทั้งนั้น และผู้ที่เป็นเหยื่อของมันก็สามารถสร้างหายนะอะไรก็ตามที่พังกันได้ทุกฝ่ายจริงๆ
บทชายผู้ตกเป็นเหยื่อนี้ เหมือนได้เเจ้งเกิด Michael Douglas ขณะนั้น ให้มีผลงานต่อๆ มาในหนังจิตวิทยา – อีโรติก – ทริลเลอร์ขึ้นหิ้งอีกหลายเรื่องอย่าง Basic Instinct (Paul Verhoeven, 1992) และ Disclosure (Barry Levinson, 1994) ตามมาด้วย จนกลายเป็นภาพจำไปเลยว่าถ้าเห็นหน้าลุง Michael Douglas แล้วจะต้องมีฉากอีโรติกเดือดๆ แน่ๆ (ฮ่า)
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากห่างหายไปร่วม 2 ปี สำหรับสองคู่หูพี่น้อง Plastic Plastic ประกอบด้วย “เพลง ต้องตา-จิตดี (ร้องนำ,คีย์บอร์ด)” และ “ป้อง ปกป้อง-จิตดี(กีต้าร์)” วงดนตรีอินดี้ป็อปดูโอ้ จากสังกัด What the duck (วอท เดอะ ดัก) ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีมานานกว่า 12 ปี เจ้าของเพลงดังอย่าง “วันศุกร์” , “อยากรู้” , “Summer Hibernation” และ “ฮัม” พวกเขาได้หวนสู่วงการดนตรีอีกครั้ง พร้อมส่งเพลงฟีลกู๊ด ทำนองน่ารัก ที่ชวนทุกคนมาคลายความเหนื่อยล้าไปกับการล้มตัวลงบนหมอนสุดสบาย ในซิงเกิลใหม่ล่าสุดอย่าง “Pillow Pillow”