fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

ทำความรู้จัก ‘Yamashi Jewelry’ งานฝีมือเก่าแก่สุดประณีตจากจังหวัดยามานาชิ
date : 7.กันยายน.2018 tag :

เราเชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นคืออีกหนึ่งเดสทิเนชั่นของนักเดินทาง และการได้เห็นภูเขาไฟฟูจิก็เป็นหนึ่งใน ‘To do list’ ที่ต้องทำให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ณ เมืองที่อยู่แนบชิดกับภูเขาไฟฟูจิ อย่าง จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) มีงานคราฟต์จากฝีมือชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งเก่าแก่และมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ไม่แพ้ที่ไหนในประเทศญี่ปุ่นเลยล่ะ

ยามานาชิเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟฟูจิ และโชคดีเหลือเกินธรรมชาติได้เสกที่นี่ให้เป็นแหล่งกำเนิดแร่คริสตัลเปี่ยมคุณภาพมาอย่างยาวนาน จนทำให้เมืองนี้สามารถผลิตเครื่องประดับคริสตัลและพัฒนาศักยภาพในการผลิตอัญมณีอื่นๆ กระทั่งได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองผลิตอัญมณีอันเลอค่าของประเทศญี่ปุ่น’ ที่มีความโดดเด่นเหนือเมืองอื่นๆ เนื่องจากดำเนินอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ไม่ว่าจะด้านการวางแผน การออกแบบ การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการจำหน่าย ซึ่งทุกกระบวนการล้วนเกิดขึ้นที่เมืองยามานาชิแห่งนี้

อุตสาหกรรมจิวเวลรีของเมืองยามานาชิเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1800 จกานั้นก็กลายเป็นแหล่งผลิตจิวเวลรีชั้นนำของญี่ปุ่นที่ได้รับความเชื่อถือคุณภาพระดับสากลมาจนถึงปัจจุบัน ศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่เพียบพร้อมในด้านการผลิตจิวเวลรีของย่านนี้ ทำให้ธุรกิจจิวเวลรีของยามานาชิเป็นแหล่งส่งออกจิวเวลรีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เพราะนอกจากฝีมือที่ยอดเยี่ยมของช่างฝีมือ ซึ่งเป็นเสมือนมรดกที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว เหล่าช่างฝีมือชั้นนำยังทุ่มเทแรงกายแรงใจในการรังสรรค์ผลงานจิวเวลรีทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนหรือการขึ้นรูปโลหะ ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีชั้นสูง จนได้รับความสนใจและการยอมรับจากทั่วโลก

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือสำหรับการเจียระไนอัญมณีเข้ามาช่วย แต่เทคนิคการเจียระไนด้วยมือแบบดั้งเดิมก็ยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในเมืองยามานาชิ  และเป็นความสามารถที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนแบบหยาบ แบบปานกลาง หรือการขัดผิว ช่างฝีมือที่นี่ก็สามารถเก็บทุกรายละเอียดได้อย่างสวยงาม

เชื่อหรือไม่ว่าความสามารถทั้งหมดนี้ใช้เพียงสัมผัสปลายนิ้วมือและเสียงของหินเจียระไนเป็นหลักเท่านั้น! ที่สำคัญคือต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกยันขั้นตอนสุดท้ายคือการขัด ช่างฝีมือจะกดอัญมณีลงบน Zelkova Board (บอร์ดเซลโควา) เพื่อขัดให้เกิดความเงางามจนกว่าพื้นผิวอัญมณีจะเปล่งประกาย ซึ่งการเจียระไนแบบนี้เครื่องจักรไม่สามารถทำได้ ต้องใช้งานฝีมือล้วนๆ และนั่นยิ่งเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้หินแร่ก้อนหนึ่งสามารถกลายเป็นอัญมณีน้ำงามได้ ด้วยฝีมือของช่างผู้มากประสบการณ์

นอกจากงานเจียระไนสุดละเมียดแล้ว เมืองยามานาชิ ยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่รวบรวมช่างโลหะฝีมือดีไว้เพียบอีกด้วย แม้ว่าในยุคนี้ผู้ผลิตหลายแห่งจะหันมาใช้เครื่องจักร แต่ยามานาชิก็ยังต้องใช้ฝีมือช่างเหล่านี้อยู่ เนื่องจากจิวเวลรีของคืองานคราฟต์ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ดังนั้นช่างจึงมีความสามารถในการทำความเข้าใจดีไซน์ เข้าใจธรรมชาติของโลหะ และมีฝีมือในการทำโลหะให้เป็นรูปร่าง โดยช่างฝีมือจะนำโลหะมาขึ้นรูปพร้อมแกะสลักให้สวยงาม และนำมาผลิตเป็นจิวเวลรีตามแบบ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นงานง่ายๆ ที่ใครจะทำได้ เพราะทุกขั้นตอนต้องใช้ฝีมือและเวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงานสวยๆ สักชิ้น นี่แหละที่ทำให้จิวเวลรี่ของยามานาชิแตกต่างจากที่อื่นในโลก

การสลักคริสตัลเป็นอีกหนึ่งความเชี่ยวชาญของชาวยามานาชิ ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) มีการนำลูกบอลคริสตัลและกระดุมกิโมโนที่ทำจากคริสตัลมาแกะสลัก แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการขยายสู่วัสดุอื่นๆ ทำให้เกิดผลงานที่สวยงามและมีความหลากหลาย การผลิตคริสตัลที่สวยงามนอกจากต้องอาศัยฝีมือและประสบการณ์ของช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในการสลักคริสตัลแล้ว จิวเวลรีของยามานาชิ ยังนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สมัยใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อช่วยให้การผลิตจิวเวลรีรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรังสรรค์จิวเวลรีชิ้นงามสู่สายตาชาวโลก  

Yamanashi Prefectural Industrial Technology Center

กำเนิดแบรนด์ Koo-fu 

ความงดงามของจิวเวลรีแห่งเมืองยามานาชิยังได้รับการต่อยอดขึ้นอีกขั้น ด้วยการสร้างแบรนด์จิวเวลรีญี่ปุ่นที่สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายใต้ชื่อ  Koo-fu (คูฟู) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 โดยแนวคิด ความงามที่เป็นธรรมชาติและละเอียดอ่อน’ คือการผลิตด้วยวัสดุคุณภาพเยี่ยมจากช่างฝีมือชั้นสูงที่ส่งต่อความประณีตบรรจงจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีนักออกแบบจิวเวลรีและช่างฝีมือระดับมาสเตอร์ของญี่ปุ่นอีกมากมายที่ได้มาร่วมงานกับ Koo-fu เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงปรัชญาแห่งงานช่างฝีมือให้คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ได้รู้จักและเห็นคุณค่ามากขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันสนับสนุน และต่อลมหายใจให้งานศิลปะท้องถิ่นชิ้นนี้ยังคงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเราว่าโมเดลของจังหวัดยามานาชิก็สามารนำมาเป็นต้นแบบให้กับงานศิลปะ หัตถกรรม หรืองานฝีมือท้องถิ่นในประเทศไทยเองได้เช่นกัน

ภาพบรรยากาศในงาน Yamanashi Jewelry Fair 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ Gochiso Space ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา


มาร่วมสัมผัสความประณีตด้วยตัวเองได้ที่เมืองไทย! ใน านแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 62) ที่ยกอัญมณีจากเมืองยามานาชิมาไว้ที่ ‘Yamanashi Pavilion’ (ยามานาชิ พาวิเลียน) ระหว่างวันที่ 7 – 11 กันยายน นี้ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี

RECOMMENDED CONTENT

1.กรกฎาคม.2024

เพลงนี้เล่าถึงแรงเสียดทานในชีวิตที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกก็ล้วนแล้วแต่ต้องพบเจอแรงเสียดทานนี้ ที่เกิดขึ้นจากการกดทับโดยบริบททางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันในแบบต่าง ๆ ที่คนคนหนึ่งต้องเจอ เพราะถึงแม้จะนับ 1 ถึง 100 เพื่อที่จะทำให้ตัวเองสงบใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งสิ่งนี้มันก็อาจจะเกินกว่าที่จะทนไหว และปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกเก็บไว้ออกมาก็เป็นได้