fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#CULTURE – 4 ดีไซเนอร์เลือดใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ Menswear อังกฤษ
date : 21.กุมภาพันธ์.2019 tag :

ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน การได้เห็นนายแบบหนุ่มใส่กระโปรงหรือเสื้อลูกไม้บนรันเวย์คงเป็นอะไรที่เวียร์ดมาก แต่ไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจในยุคเพศเลื่อนไหล (Gender Fluid) เช่นทุกวันนี้ที่ไม่มีเส้นแบ่งแบ่งแยกระหว่างเพศ

นั่นเป็นแค่ตัวอย่างของการปฏิวัติเท่านั้น สิ่งที่จะทำให้แบรนด์เสื้อผ้าบุรุษหรือเมนส์แวร์ (Menswear) โลกใหม่นี้ต้องคิดหนักไม่ใช่เเค่เรื่องของการแสดงตัวตน ดีไซน์ หรือความว้าวความแปลกใหม่อะไรอีกต่อไป แต่มันคือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้เสื้อผ้าของพวกเขานำเสนอวัฒนธรรมให้มากที่สุดในโลกที่อุดมความหลากหลายใบนี้ด้วย

เราจะพาไปทำความรู้จักกับดีไซเนอร์หญิงเลือดใหม่ผู้ทำให้วงการเมนส์แวร์ฝั่งอังกฤษหลากหลายและท้าทายมากกว่าเดิม!

Phoebe English

เธอคือใคร : ดีไซเนอร์สาวใจนักเลงผู้หยิบเสื้อผ้าผู้หญิงและผู้ชายมาใส่ไว้ในคอลเล็กชั่นเดียวกันภายใต้ไลน์เดียวกัน แบรนด์เดียวกัน อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน 

ทำไมเราชอบ : แต่นั่นยังไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับคอลเล็กชั่น AW 19 ที่ตอบสนองเทรนด์ Suntainable ด้วยการใช้วัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานและฟาร์มรอบเกาะอังกฤษ ตั้งแต่เวลส์เลยไปถึงไอร์เเลนด์ เช่น ผ้าไหมที่ทำจากส่วนที่เหลือจากต้นไผ่ ผลิตเส้นใยผ้าจากน้ำส้มและไวน์เหลือๆ หรือแม้แต่โปรตีนจากนม (!) ก็ถูกนำมาทำเป็นกระดุมเสื้อแทนการใช้พลาสติกหรือวัสดุจากสัตว์ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเครื่องหนังสาย ‘มังสวิรัติ’ อีก โดยดธอบอกว่าการได้ค้นหาวัสดุใหม่ๆ ที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แถมลดปริมาณขยะหรือ Zero-waste นี้คืองานที่สนุกสุดๆ สำหรับเธอ

แหม รักโลกกันเบอร์นี้ เอามงไปเลยจ้าา

Bianca Saunders

เธอคือใคร : ดีไซเนอร์ที่ทำเสื้อผ้าเพื่อผู้ชายผิวสีที่ต้องการรู้สึกดีกับรูปลักษณ์ตัวเองและไม่ยอมให้เส้นเเบ่งของสีผิวหรือเพศสภาพมาจำกัดการแสดงออกอีกต่อไป

ทำไมเราชอบ : สาวจากอังกฤษตอนใต้ลูกครึ่งอินเดียนบอกว่าการที่มีผู้ชายอังกฤษผิวสีสักคนใส่ต่างหูสีทอง ใส่สีชมพู หรือใส่เชิ้ตมีลูกไม้ระบายๆ เขาจะถูกตัดสินทันทีว่าเป็นเกย์ เสื้อผ้าของซอนเดอส์จึงต้องการเป็นที่ยืนให้กับผู้ชายผิวสีหรือใครก็ตามที่ถูกมองว่าแปลกแยกจากสังคมอังกฤษด้วยการทำ Casual Wear โดยใส่ความละมุนละไมของเสื้อผ้าผู้หญิงลงไป ไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างเทคนิคการจับเดรปหรือผ้าระบาย ผ้าลูกไม้ต่างๆ เพื่อลบช่องว่างนั้นทิ้งซะ!

Paria Farzaneh

เธอคือใคร : ดีไซเนอร์สาววัย 20 ต้นๆ ชาวอิหร่านที่ย้ายบ้านมาอยู่ลอนดอนสักพัก ผู้มีความเห็นว่าแฟชั่นเป็นอะไรที่เร็วเกินไป กดดันเกินไป ดีไซเนอร์ต้องคิดกันหัวขวิดให้ได้อย่างน้อย 4 คอลเล็กชั่นต่อปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งมันบ้าไปแล้ว!

ทำไมเราชอบ : เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ชอบเสื้อผ้าผู้ชาย และชอบเห็นผู้หญิงใส่เสื้อผ้าผู้ชายด้วย ด้วยความที่โตมาระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมของอิหร่านและเมืองผู้ดี เธอจึงตั้งใจจะให้โลกรู้จักกับ Youth Generation ของอิหร่านผ่านเสื้อผ้าที่ผสมผสานกลิ่นอายของ 2 วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ จะมีสักกี่คนที่กล้านำลายผ้าทอแบบเปอร์เซียนมาอยู่บนสตรีทแวร์กันเชียว แค่เห็นลายบน Converse ก็ยอมแล้ว ยอมเลย!

Bethany Williams

เธอคือใคร : ดีไซเนอร์สตรีทเเวร์สายแข็งวัย 29 ที่ทำทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมพร้อมกับเรื่องสังคม และแอนตี้การถูกสปอยล์จนเคยตัวด้วยเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น (Fast-fashion) ของคนเจนฯ นี้ที่เพิ่มขยะเเฟชั่นขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ทำไมเราชอบ : สตรีทเเวร์ของเธอนั้นสตรีทจริงๆ นะ เพราะหนึ่งในคอลเล็กชั่นของวิลเลียมส์ทำขึ้นร่วมกับมูลนิธิในลิเวอร์พูลชื่อ Adelaide House ซึ่งเป็น 1 ใน 6 มูลนิธิของประเทศอังกฤษที่จริงจังเรื่องช่วยเหลือผู้หญิงไร้บ้านให้มีที่อยู่ที่ปลอดภัยจากอาชญากรรมและความรุนแรง และลิเวอร์พูลก็เป็นเมืองแห่งแรกในอังกฤษที่มีเคหะเพื่อผู้หญิงไร้บ้านและส่วนหนึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อเรื้อรัง

วิลเลียมส์ได้รับความร่วมมือจากศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งหนึ่งในอิตาลีที่ให้อาชีพผู้หญิงเหล่านั้นได้มีงานทำด้วยการทอผ้าจากวัสดุเหลือใช้ด้วยมืออยู่แล้ว ทำเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นหนึ่งขึ้นมาร่วมกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของลิเวอร์พูลชื่อ Liverpool Echo โดยนำกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช้แล้วมารีไซเคิลใหม่ให้กลายมาเป็นสตรีทแวร์สีแซ่บที่เราเห็นเนี่ยแหละ

รายได้ 20% จากผู้ชายทุกคนที่ซื้อเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นนี้จะส่งไปถึงมือผู้หญิงไร้บ้าน และช่วยให้พวกเธอมีความหวังในชีวิตต่อไป ไม่ใช่แค่ทำเอาเท่ แต่นี่คือการขับเคลื่อนสังคมอย่างเป็นรูปธรรมของคนตัวเล็กๆ ที่น่าทึ่งที่สุด

เอ้า! ชาบู 3 ครั้งพร้อมกัน ชาบู ชาบู ชาบู!


WRITER : WEDNESDAY

RECOMMENDED CONTENT

9.กันยายน.2019

เนื่องจากคุณฟูจิตระหนักถึงปัญหาการผลิตสินค้าด้วยพลาสติกจำนวนมากที่เติบโตขึ้นในชีวิตประจำวันของเราเหมือนดอกเห็ดตั้งแต่ยุค 70 ในปีค.ศ. 1997 เขาจึงได้เริ่มเก็บสะสมของเล่นพลาสติกที่ไม่เล่นแล้วตามบ้านเรือน